กำฟ้า พาแลง ไทยพวน สิงห์บุรี
เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา
ชาวไทพวนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเชียงขวาง สปป.ลาว อพยพมาอยู่ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 กระจายไปอาศัยอยู่หลายภูมิภาค เช่น สระบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, ฉะเชิงเทรา, นครนายก, ปราจีนบุรี, อุดรธานี, หนองคาย, แพร่, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, และพิจิตร เป็นต้น แต่ก็ยังสืบสานประเพณี วัฒนธรรมไทพวน มาได้จนถึงปัจจุบัน
เผาข้าวหลาม กำฟ้า
ประเพณี กำฟ้า จัดขึ้น 2 วัน วันแรกจะมีการทำ ข้าวหลาม กำฟ้า ในช่วงนี้ต้นไผ่ในหมู่บ้านกำลังแตกหน่อชูยอดใหม่ เหมาะสำหรับนำมาทำกระบอกข้าวหลามเป็นอย่างดี
คนในชุมชนจะมาร่วมตัวกันแต่เช้า แบ่งแยกหน้าที่กันทำ ปลอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ กรอกข้าวเหนียวใส่กระบอกไม้ไผ่ แล้วนำไปเผาด้วยไม้ฟืน ได้ข้าวหลามเนื้อขาวนิ่ม รสชาติหวานนิดตัดเค็มหน่อย อร่อยกลมกล่อมกำลังดี
แห่ข้าวหลาม กำฟ้า ถวายวัดอุตะมะพิชัย
ชุมชนไทพวนมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ วัดอุตะมะพิชัย ตำบลบางน้ำเปรี้ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ทำการเผาข้าวหลาม กำฟ้า เสร็จช่วงเย็นเอาข้าวหลามมาใส่หาบ ตั้งขบวนแล้วแห่นำไปถวายวัด โดยมีนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ให้เกียรติมาเป็นประธาน ทำพิธีถวาย ข้าวหลาม กำฟ้า ให้กับพระคุณเจ้า
ชิมอาหารถิ่นแบบไทพวน
ภายในงานยังมีการสาธิตการทำอาหารพื้นบ้านไทพวน ที่หารับประทานที่ไหนไม่ได้ต้องมาทานที่นี่ที่เดียว โดยคนในชุมชนเป็นแม่ครัวที่ถนัดการทำอาหารในแต่ละเมนู
ปลาเปี๋ยง หรือทอดมัน
เมนูแรกที่แนะนำ ปลาเปี๋ยง หรือทอดมัน เป็นอาหารประจำบ้านของชาวไทพวน น่าน้ำพ่อบ้านจะออกไปปลาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ปลาเล็กปลาน้อยที่หาได้ นำมาสับให้ละเอียด เอาเนื้อปลาที่สับแล้วผสมกับพริกแกง ตามด้วยไข่เป็ด ใส่ลงในครกตำจนส่วนผสมเข้ากันดี ยิ่งตำนานเนื้อปลาเปี๋ยงยิ่งเหนียวเด้ง จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันที่ร้อนได้ที่ ทอดให้สีเหลืองออกส้มๆแล้วตักขึ้น รับประทานตอนร้อนๆยิ่งอร่อย เนื้อปลาเปี๋ยงเหนียวหนึบเด้ง
แจ่วซู่ลู่ หรือลาบปลา
เมนูที่ 2 แจ่วซู่ลู่ หรือลาบปลาของชาวไทพวน วิธีการทำก็จะนำปลาเล็กปลาน้อยที่หาได้มาสับให้ละเอียด แล้วนำไปหมักกับน้ำมะขามเปียก เพื่อดับกินคาวไปในตัวด้วยบีปน้ำมะขามเปียกออกแล้วตั้งไฟรวนให้ปลาสุก จากนั้นใส่เครื่องปรุงลาบลงไป ได้รสชาติลาบปลาแบบไทพวน เปรี้ยวด้วยน้ำมะขามนำตามด้วยเค็ม หอมกลิ่นปลาล้า และน้ำพริกเผาอ่อนๆ และไม่ใส่น้ำตาลเลย เดี
แกงจานน้ำเสอ หรือแกงหน่อไม้ดอง
เมนูที่ 3 แกงจานน้ำเสอ หรือแกงหน่อไม้ดอง เป็นอาหารที่ทำกินกันทุกครัวเรือน นอกจากจะเอาต้นไผ่ไปทำข้าวหลามแล้ว ชาวไทพวนยังมีผลิตผลของต้นไผ่อีกอย่างก็คือหน่อไม้ นำมาปรุงอาหารจานเด็ดได้ วิธีการปรุง เอาน้ำมาตั้งไฟให้เดือด ใส่ปลาเทโพลงไป แล้วตามด้วยพริกแกง และยอดหน่อไม้อ่อนมาดองให้ได้ที่แล้ว พอเนื้อปลาสุกก็ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะขามเปียก แกงจานน้ำเสอ ของชาวไทพวนดั่งเดิม ที่ขาดไม่ได้ต้องใส่น้ำปลาร้าปิดท้าย เพื่อให้น้ำแกงมีเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น
คั่วขี้ปลา หรือผัดพริกแกงปลาสับ
เมนูที่ 4 เมนูสุดท้ายคือ คั่วขี้ปลา สมัยก่อนในชุมชนจะหาปลาได้เยอะ ก็จะนำเนื้อปลามาสับ ปลาส่วนใหญ่ที่ใช้ก็มีปลากด ปลาเนื้ออ่อน ปลาเกล็ดขาว แล้วก็เอาไส้ปลาที่เขาเรียกว่ากระเพาะข้าวเหนียว เอามาสับปนไปด้วย จากนั้นเอาพริกแกงสดที่หนักกระเทียมเพื่อเพิ่มความหอม ผัดพริกแกงให้หอมได้ที่ แล้วค่อยใส่เนื้อปลาลงไป ผัดให้แห้งโดยไม่ต้องเติมน้ำลงไป พอเนื้อปลาสุกแล้วค่อยปรุงรส ด้วยน้ำปลาตัดด้วยน้ำตาลปี๊บนิดหน่อย ปิดท้ายด้วยใส่ดอกแคลงไปโรยหน้าด้วยใบมะกูดฉีก หอมกลิ่นพริกแกงเนื้อปลาสดรสเค็มนำตามหวานหน่อย อร่อยกำลังพอดี
พาแลง ไทพวน สิงห์บุรี
งานสืบสานวัฒนธรรม ประเพณี กำฟ้า พาแลง ไทยพวน สิงห์บุรี จัดขึ้นทุกวันที่ 3 เดือน 3 ของทุกปี คำว่า “กำฟ้า” หมายถึง การบูชาผืนดิน และท้องฟ้า ให้ความเคารพต่อธรรมชาติ สมัยก่อนยังไม่มีถาด ก็เอาไม้มาทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมนำมาใส่อาหาร เรียกว่า “พา” จัดเลี้ยงกันในตอนเย็น ภาษาไทพวนก็คือ “แลง” และมีการจัดงานเลี้ยงกันในตอนเย็น เป็นการเฉลิมฉลองประเพณี กำฟ้า คนในหมู่บ้านได้มาพบปะสังค์สรรค์พูดคุย เชื่อมสายสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
ตักบาตรข้าวหลาม
เช้าวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีตักบาตรข้าวหลาม แต่ละครัวเรือนก็จะทำข้าวหลามด้วยสูตรของตัวเอง นำมาใส่บาตรที่วัด เหมือนกับการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แต่ชาวไทพวนจะใส่บาตรด้วยข้าวหลาม เพราะข้าวหลามก็เก็บไว้รับประทานได้หลายวันเหมือนกัน นอกจากนี้บ้านไหนทำเยอะ ก็จะนำมาแจกจ่ายเพื่อนบ้าน เป็นการแบ่งปันไปด้วยในคราวเดียวกัน
ผู้หญิงใส่เสื้อทำจากผ้าฝ้ายย้อมด้วยสีเหลืองจากดอกคูณ นุ่งผ้าสิ่นลายขวางสีเหลืองทองสลับดำ ชายทำผ้าตีนจกสีแดง ส่วนฝ่ายชายแต่งการด้วยเสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงิน นุ่งกางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้าคาดพุง ทำข้าวหลามกำฟ้า มาตักบาตรในตอนเช้า ของวันที่ 4 เดือน 3 ของทุกปี แสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของ ชาวไทพวน สิงห์บุรี ยังคงมีอยู่ เพื่อรักษาไว้ให้ลูกหลานไปได้สืบทอดต่อไป