ปิดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๑๑ ฉันทมติ ๔ ประเด็นสำคัญ เตรียมเสนอ คกก.สุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๖๑ มีฉันทมติเห็นชอบ ๔ ประเด็นนโยบายสาธารณะ “สร้างพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง–อีสปอร์ตปกป้องเด็กและเยาวชน – แก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ – บริการทันตกรรม” เตรียมเสนอคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติสานต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย พร้อมสานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานแถลง ปิดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๑๑ ฉันทมติ ๔ ประเด็นสำคัญ พร้อมด้วย นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๑ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๑ น.พ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๒ นางภารณี สวัสดิรักษ์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๒ และสื่อมวลชนร่วมร่วมแถลงคับค้่ง
นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า “ขอบคุณผู้เข้าร่วมที่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนจากทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเหล่านี้ร่วมกัน สำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปีนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า ๒,๑๐๐ คน จาก ๒๒๔ กลุ่มเครือข่ายทั่วประเทศ มีระเบียบวาระใหม่ที่เสนอเข้าพิจารณาหาฉันทมติใน ๔ ประเด็นสำคัญได้แก่ ๑.การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ๒.ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก ๓.ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ และ ๔.การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานและประกาศชื่นชมรูปธรรมความสำเร็จจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในประเด็นต่างๆ รวมถึงกิจกรรมในลานสมัชชาสุขภาพที่สะท้อนดอกผลความสำเร็จของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ผ่านการจัดนิทรรศการและกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ”
นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๑ กล่าวว่า “หลักการสำคัญของประเด็น การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า พื้นที่สาธารณะคือองค์ประกอบสำคัญต่อการสร้างเมืองสุขภาวะ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างสังคมที่น่าอยู่ การมีพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะที่พลเมืองสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในเขตเมือง เป็นนโยบายสาธารณะสำคัญที่หน่วยงานและทุกภาคส่วนควรขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ กลไก และมาตรการ เพื่อให้ทุกเขตเมืองเกิดแผนการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเพื่อผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สาระสำคัญของ (ร่าง) มติฯ คือ ให้ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการและสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะในเขตเมืองด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เชื่อมโยง บูรณาการการขับเคลื่อน ปรับปรุงกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้และขอเช่าที่ดินของหน่วยงานรัฐ พัฒนาแนวทางปฏิบัติผ่านมาตรการผังเมืองและการออกแบบอาคารและการออกแบบมาตรการในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ภาคเอกชนในการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะในเขตเมืองที่คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ ใช้งานง่าย และปลอดภัย เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและเมือง รวมถึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันวิชาการ สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ สนับสนุนการจัดทำสื่อในรูปแบบต่างๆ คู่มือเพื่อเผยแพร่ความรู้ สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ตลอดจนพัฒนากลไก เครื่องมือ และมาตรการอื่นๆ เพื่อการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะในเขตเมืองที่ยั่งยืน”
นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๑ “สรุปสาระสำคัญของ (ร่าง) มติ ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก คือ สมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวปฎิบัติหรือมาตรการและแนวทางการบังคับใช้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมอีสปอร์ตที่ปลอดภัย เป็นธรรม โปร่งใส เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กทั้งในฐานะผู้ชมและผู้เข้าร่วมแข่งขันอีสปอร์ต โดยต้องมีการแสวงหาข้อมูล ศึกษาผลกระทบ และการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
และเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงของอีสปอร์ตอย่างถูกต้องครบถ้วนต่อสังคมทั้งทางด้านบวกและลบ และมีการสร้างระบบกลไกการเฝ้าระวังอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการสอดส่องดูแล ร้องเรียน หรือบังคับใช้กฏหมายอย่างถูกต้อง รวมถึงให้มีการจัดทำกฎหมายเป็นการเฉพาะเพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ กลไก และมาตรการในทุกระดับในการควบคุมดูแลและกำกับการประกอบกิจการเกมส์ออนไลน์ที่ส่งผลต่อสุขภาวะเด็ก”
น.พ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๒ กล่าวว่า “สาระสำคัญของ (ร่าง) มติ ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ประกอบด้วยแนวทางที่จะถูกนำไปขับเคลื่อนหลักใน ๕ ข้อ ได้แก่ ๑.กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคจะร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสุนนการสร้างเสริมสุขภาพและภาคีที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบติดตามเฝ้าระวังและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อ ตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักและฉลาดรอบรู้ด้านสุขภาพ ๒.กระทรวงคลัง กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการออกแบบผลิตภัณฑ์/บริการที่จะสนับสนุนประชาชนมีสุขภาพที่ดี พร้อมให้เกิดการประกอบกิจการที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อ โดยใช้ระบบกลไกทางการเงิน กลไกทางภาษี และอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ๓.กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยจะเป็นหน่วยงานหลักในทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพในทุกกลุ่มวัย
รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ครอบครัว ชุมชน องค์กร และสังคม ในการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อในทุกช่วงวัย ๔.กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และกองทุนรักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันออกแบบชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในทุกกองทุนที่เอื้อต่อการรอบรู้ทางสุขภาพและเข้าถึงการใช้สิทธิในการจัดการด้านสุขภาพของตัวเองได้ดีขึ้น โดยจะไม่ได้มองแค่เพียงตัวบุคคล แต่ยังมองไปถึงกลุ่มครอบครัวและชุมชนด้วย ๕.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการวิจัยระบบสุขภาพหาเครื่องมือใหม่ๆ และนวัตกรรม เครื่องมือ ชุดความรู้ และการประเมินผลเกี่ยวกับความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ และสนับสนุนให้นำการวิจัยไปสู่การปฏิบัติ”
นางภารณี สวัสดิรักษ์ รองประธานอนุกรรมการดำเนินการประชุม คณะที่ ๒ กล่าวว่า “สาระสำคัญของร่าง (มติ) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม ประกอบด้วย การกำหนดให้สิทธิประโยชน์หลักทางทันตกรรมเท่าทียมกันทั้ง ๓ กองทุน พัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกัน และดูแลสุขภาพด้านทันตกรรมทุกกลุ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ครอบคลุมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ระบบการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมทั้งในระบบบริการภาครัฐและภาครัฐร่วมเอกชนที่ผู้รับบริการไม่ต้องสำรองจ่าย มีการนัดหมายล่วงหน้า กำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยให้ข้อกำหนดดังกล่าวนี้เป็นตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการขายวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการจัดฟันแฟชั่นและฟันเทียมเถื่อนให้เป็นเครื่องมือแพทย์เฉพาะสถานพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมหรือผู้รับอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์ พัฒนากลไกการป้องกัน/เฝ้าระวังการจัดการปัญหาจัดฟันแฟชั่นและฟันเทียมเถื่อน ดำเนินคดีกับผู้ให้บริการจัดฟันแฟชั่น/ผู้ให้บริการทำฟันเทียมเถื่อนในทุกฐานความผิดตามกฎหมายทุกฉบับ
และพัฒนาระบบป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเกี่ยวกับการโฆษณาหรือขายเครื่องมือ/วัสดุอุปกรณ์ทางทันตกรรม สร้างความรอบรู้ทางทันตกรรม สุขภาพช่องปาก และค่านิยมที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริการทางทันตกรรม จัดการเรียนการสอนและฝึกอบรมเพื่อสร้างทันตแพทย์ครอบครัว/ทันตบุคลากรในชุมชนโดยกำหนดสัดส่วนและการกระจายที่เหมาะสมและเป็นธรรม จัดตั้งกองทุนทางทันตกรรมเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปากและการเยียวยา รวมถึงสนับสนุนหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีบริการทางทันตกรรมและส่งเสริมให้ประชาชนรับบริการทางทันตกรรมขั้นพื้นฐานและมีการร่วมจัดระบบบริการในพื้นที่”
ปิดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ ๑๑ ฉันทมติ ๔ ประเด็นสำคัญ เตรียมเสนอ คกก.สุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย จัดแถลงเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ครั้งที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๖๑ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร