สทท. มั่นใจเป้าหมาย 3.5 ล้านล้านบาท เป็นไปได้ ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ระดับ 77 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2566 ที่ระดับ 69 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก โดยดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567 นี้ อยู่ที่ระดับ 82 คาดว่าไตรมาสนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นดีกว่าไตรมาส 4/2566 เล็กน้อยและดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา พร้อมมั่นใจเป้าหมาย 3.5 ล้านล้านบาท เป็นไปได้ ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธานฝ่ายวางแผนและพัฒนาสายอาชีพ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณพรทิพย์ ปัญญาสกุลวงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมแถลง
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า “เป้าหมายท้าทาย รายได้รวมจากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน วางไว้ถือเป็นเรื่องดีมาก ถือแม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ทำได้ยากมากในปีนี้ แต่ก็ทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการธนาคาร เร่งสร้างนโยบายและโครงการเพื่อมาสนับสนุนให้เกิดรายได้ตามเป้าหมายดังกล่าว หากเราทำได้สำเร็จก็จะดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งประเทศ และมีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับสองของโลกในด้ายรายได้ สทท. มองว่าในด้าน Demand ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะทำได้ แต่ด้าน Supply ยังมีความท้าทายหลายด้านที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน” นายชำนาญกล่าวเสริมว่า “หากต้องการรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาท จะต้องมาจาก 2 ส่วน คือ ต่างชาติเที่ยวไทย สทท.คาดว่า รายได้จะมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประมาณ 2.24-2.30 ล้านล้านบาท จะต้องมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน x 56,000-57,5000 บาท และไทยเที่ยวไทยอีก 1.20-1.26 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 2562 เราเคยมีรายได้ไทยเที่ยวไทยที่ 1.08 ล้านล้านบาท มาแล้ว หากใช้ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเราจะสามารถทำตามเป้าหมายได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สทท. จึงขอเสนอยุทธศาสตร์ 3 ข้อ ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์มุ่งเป้า เราจะต้องกำหนดการเชื่อมโยง Demand- Supply ใน 3 มิติ who / where / what นักท่องเที่ยวเป็นใครชาติใด วัยใด สนใจเรื่องอะไร / ไปเที่ยวจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดใด / นักท่องเที่ยวเที่ยวรูปแบบใดและทำกิจกรรมอะไร
2. ยุทธศาสตร์คลังสมองท่องเที่ยวไทย เราจำเป็นต้องมี Tourism Think Tank เริ่มจาก 100 คน โดยคัดทั้งที่ผู้มีประสบการณ์ จากทุกสาขาอาชีพ จากพื้นที่ 5 ภาค จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัว และจากนักวิชาการ มาช่วยกันเป็นต้นแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวม อีกทั้งยังสามารถเป็นผู้ช่วยพัฒนานโยบายและโครงการเพื่อนำเสนอต่อท่านรัฐมนตรีและรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ยุทธศาสตร์ Tourism Clinic เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ Supply Side ปัญหาหลักของผู้ประกอบการมี 4 ด้าน คือ การเงิน บุคลากร การตลาด และนวัตกรรม Tourism Clinic จะเป็นเสมือนคุณหมอคอยตรวจสอบและให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อให้กลับมาแข็งแรงและเก่งกว่าเดิม
ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสทองของท่องเที่ยวไทย เรามีโอกาสได้นักท่องเที่ยว 30-40 ล้านคน มีโอกาสสร้างรายได้ 2.5-3.5 ล้านล้านบาท 2 ปัจจัยสำคัญ คือนโยบายของรัฐ และความพร้อมของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการคือสินค้า หากสินค้ายั่งยืน การตลาดก็ยั่งยืน”
นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า “นโยบาย 4 เติม เติมทุน เติมลูกค้า เติมความรู้ เติมนวัตกรรม ที่ สทท. ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปีที่แล้วได้ผลดีมาก จำเป็นต้องขยายผล ในเชิงนโยบายด้านต่างชาติเที่ยวไทย นโยบายด้านวีซาของแต่ละพื้นที่ได้ผลชัดเจน ทั้ง จีน ไต้หวัน คาซัคสถานและ อินเดีย เราควรเพิ่มประเทศใหม่แ ละเพิ่มวีซาตามความสนใจหรือกิจกรรม เช่น วีซามวยไทย 6-12 เดือน / วีซา Digital Nomad / วีซาอาหารไทย เป็นต้น เพื่อให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นทูตวัฒนธรรม ต่อยอดด้าน Softpower ของไทยต่อไป
ด้านการเพิ่มรายได้จากไทยเที่ยวไทย สทท. ได้เตรียมเสนอ 3 โครงการ คือ 1. โครงการบัสทัวร์ทั่วไทยที่ประสบความสำเร็จมากในปีที่แล้ว ช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวยากและต้นทุนในการเดินทางสูง 2. โครงการเที่ยวช่วยชาติ โดยสนับสนุนให้ข้าราชการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาและได้ KPI 3. โครงการสนับสนุนการเดินทางข้ามภาคของอบต./อบจ.
รศ.ผกากรอง เทพรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ระดับ 77 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2566 ที่ระดับ 69 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก โดยดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 1/2567 นี้ อยู่ที่ระดับ 82 คาดว่าไตรมาสนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นดีกว่าไตรมาส 4/2566 เล็กน้อยและดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการณ์คาดว่าการท่องเที่ยวในไตรมาส 1/2567 จะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาในทุกภูมิภาค โดยภาคเหนือมีสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากที่สุด และภาคกลางมีสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกน้อยที่สุด ธุรกิจสปา/นวดแผนไทยสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกมากกว่าที่สุด ส่วนธุรกิจแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น มีสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกน้อยที่สุด
ธุรกิจที่พักแรมมีรายได้ ประมาณร้อยละ 63 และมีการจ้างงานแล้วร้อยละ 88 เทียบกับปี 2562 อัตราการเข้าพักในไตรมาส 4/2566 เฉลี่ยทั่วประเทศร้อยละ 62 โดยกรุงเทพมหานครมีอัตราการเข้าพักสูงที่สุดที่ร้อยละ 68 โดยโรงแรมขนาดใหญ่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 76 มากกว่าขนาดกลางและเล็ก ธุรกิจสปา/นวดแผนไทยร้อยละ 40 มีปัญหาเรื่องขาดแคลนบุคลากรและต้องการให้ภาครัฐช่วยพัฒนาทักษะแรงงาน ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยในไตรมาส 4/2566 ประมาณ 4,293 บาท/คน/ทริป ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2566 ( 4,285 บาท/คน/ทริป)”
สทท. มั่นใจเป้าหมาย 3.5 ล้านล้านบาท เป็นไปได้ ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน แถลงเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ณ TAT Intelligence Center ชั้น 17 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย