THEWAYNEWS > Hot > สทท.แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 2/2561

       สทท.แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 2/2561

CBT_6362-S

        สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย เพื่อคาดการณ์ และสะท้อนถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต การสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในไตรมาส 2 /2561 ดำเนินการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561และคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 3/2561 ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2561

CBT_6351-S

        นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เป็นประธานแถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 2 /2561 พร้อมด้วย นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA ) นายเศรษฐพันธ์ พุทธานี ผู้อำนายการสมาคมโรงแรมไทย (THA) นายศิเวก สัจเดว ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมนด์ทรี จำกัด ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสื่อมวลร่วมแถลง

CBT_6371-S

       นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก กล่าวว่า “สทท. เห็นว่า ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยปัจจัยที่สำคัญ คือ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น พร้อมกับแผนการประชาสัมพันธ์พื้น ที่จากหน่วยงานภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จึงขอเสนอให้ภาครัฐเร่งพัฒนาการคมนาคมขนส่งให้มีมาตรฐาน และเชื่อมต่อระบบการเดินทางต่างๆ เข้าด้วยกัน  รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยว และสถานประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยว

CBT_6347-S

       ให้เป็นไปตามมาตรฐานสอดคล้องกับความสามารถในการรองรับของพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้นโยบายที่มีความสัมพันธ์ กับการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และเข้าถึงทุกพื้นที่ ในส่วนของผู้ประกอบการควรพัฒนาคุณภาพสินค้า และการให้บริการให้อยู่ในมาตรฐานสากล สร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ ให้มีกลไกในการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปรับตัวพร้อมต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว และกระแสที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อให้สามารถผลิตสินค้า และบริการได้อย่างมีคุณภาพ”

CBT_6366-S

       นายวิชิต ประกอบโกศล กล่าวว่า “ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ไม่เท่ากับปีก่อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากเมื่อ 2 เดือนที่แล้วเด็กๆในประเทศจีนต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ครอบครัวส่วนใหญ่จึงไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยว จึงทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีอัตราที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ต้องกังวลในเดือนหน้านักท่องเที่ยวจากจีน จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเมื่อนักเรียนของเขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็น่ามีการฉลองด้วยการเดินทางท่องเที่ยวมาไทยเพิ่มมากขึ้น

CBT_6353-S

      ส่วนเรื่องที่ผมเป็นห่วงก็คือโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางที่จะเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เรือ เครื่องบิน สนามบิน โรงแรม จะพอรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านคน ในปี 2020 นี้หรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มอาจถึง 40 ล้านคน เสียด้วยซำ้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เราจะทำกันอย่างไร เตรียมแผนรองรับกันแล้วหรือยัง ถ้าไม่มีแผนรองรับ ก็อาจจะเป็นผลลบ ประเทศไทยก็จะเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย”

CBT_6350-S

           ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล  กล่าวว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาสที่ 2/2561 เท่ากับ 94 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเล็กน้อย เนื่องจากการแข่งขัน และต้นทุนที่สูงขึ้น จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ บวกกับราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสนี้ ส่วนไตรมาสที่ 3/2561 คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 100 โดยมีปัจจัยเสริมจากการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วขึ้น การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับการประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเดินทางสู่พื้นที่ต่างๆมากขึ้น จึงคาดว่าในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 39.47 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.53 จากปี 2560 สร้างรายได้จำนวน 2.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ  14.54 จากปี 2560

Screen Shot 2561-06-27 at 11.23.45

        การสำรวจในไตรมาสที่ 2/2561 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.95 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.09 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนในไตรมาส 3/2561 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 9.64 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.79 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น นักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 2.47 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.54 นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก (รวมจีน) 4.35 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.58 นักท่องเที่ยวจากยุโรปจะอยู่ที่ 1.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 จากปี 2560 ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศ ไตรมาสที่ ๒/๒๕๖๑ มีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ร้อยละ 35 ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันในปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 3/2561 มีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางในประเทศ ร้อยละ 25 ซึ่งใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อนเช่นกัน”

CBT_6357-S

       นายเศรษฐพันธ์ พุทธานี กล่าวว่า “ทางสมาคมโรงแรมเราไม่ได้เป็นห่วงเรื่องโรงแรมไม่พอให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว เพราะในขณะนี้ก็ยังมีการสร้างที่พัก โรงแรม รีสอร์ท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอยู่อย่างต่อเนื่อง ที่ผมเป็นห่วงก็คือด้านแรงงานที่มีมาให้บริการนักท่องเที่ยวในโรงแรม ประเด็นนี้เราเป็นห่วงมาก ซึ่งในขณะนี้เราก็ยังขาดแรงงานอยู่ไม่ว่าจะเป็น พนักงานต้อนรับ พนักงานปูเตียง ไปจนถึงพนักงานผู้ช่วยกุ๊ก

Screen Shot 2561-06-27 at 11.15.55

       อีกเรื่องหนึ่งที่เราเป็นห่วง ก็คือเหตุการทางด้านสถานการณ์ด้านการเมือง ที่ยังอ่อนไหวอยู่ อาจจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งมักจะเกิดเป็นประจำทุก 2 ปี”

CBT_6360-S

         นายศิเวก สัจเดว กล่าวว่า “ผลการวิเคราะห์ทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ (Big Data) ที่มีต่อประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ว่า ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์โดยนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในการแบ่งทัศนคติออกเป็น 4 ระดับ คือ Positive (สีเขียว มีทัศนคติเป็นบวก), Negative (สีแดง มีทัศนคติเป็นลบ), Ambivalent (สีเหลือง มีทัศนคติเป็นบวกและลบในการออกความเห็น) และ Neutral (สีเทา มีทัศนคติเป็นกลาง) โดยในการประมวลผลดัชนีความพึงพอใจสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวนั้นทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับบริษัท ไมนด์ทรี ได้ทำการพัฒนาโมเดลและระบบปัญญาประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับดัชนี World Economic Forum Travel & Tourism Competitiveness Index จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ไตรมาส 2 ปี  2561 นักท่องเที่ยวมีทัศนคติต่อเมืองเชียงรายซึ่งเป็นเมืองรองเป็นบวกมากที่สุด ร้อยละ 66 ส่วนกระบี่และภูเก็ตเป็นสองเมืองหลักที่นักท่องเที่ยวมีทัศนคติเป็นบวก ร้อยละ 48 และ ร้อยละ 46 ตามลำดับ

Screen Shot 2561-06-27 at 11.16.20

       ในการวิเคราะห์ความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวจากผลการสำรวจที่มีนัยสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดิม พบว่ามีข้อมูลที่นักท่องเที่ยวกล่าวถึงเมืองรอง ได้แก่ ชัยนาท เชียงราย ลำปาง พัทลุง นอกเหนือไปจากกรุงเทพ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และพัทยาที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก จึงเป็นที่น่าสนใจว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองเริ่มประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักมากขึ้น นอกจากนี้นักท่องเที่ยวมีการกล่าวถึงที่พักแรมในจังหวัดชัยนาท พร้อมทั้งแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เช่น วัดร่องเสือเต้น (Blue Temple) ในจังหวัดเชียงราย นอกเหนือไปจากวัดร่องขุ่น (White Temple) ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทำให้เป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

Screen Shot 2561-06-27 at 11.16.36

       ส่วนทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่อแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 2561 พบว่ากระแสของการปิดอ่าวมาหยาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากทำให้ทัศนคติของนักท่องเที่ยวเป็นบวกต่อการปิดอ่าว โดย Big Data ได้เทียบเคียงแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคอาเซียน ระหว่างภูเก็ตและกระบี่กับเกาะโบราเคย์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมีการกล่าวถึงภูเก็ตในด้านบวกมากกว่าและด้านลบน้อยกว่าโบราเคย์ ที่สำคัญได้มีการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทดแทนอ่าวมาหยาที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้ไปเที่ยวในจังหวัดตรัง เช่น เกาะลิบง เกาะมุก เกาะกระดาน และอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเพื่อผลักดันนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปยังเมืองรอง ควรมีการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น”

Screen Shot 2561-06-27 at 11.17.09

      สทท. แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 2/2561 แถลงเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 10 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร