THEWAYNEWS > Travel > In bound > สลามัตชายแดนใต้ @ เบตง – ยะลา

          สลามัตชายแดนใต้ @ เบตงยะลา

             เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา

      เบตงเป็นเมืองในหุบเขา ป่าไม้หลากพันธุ์หนาแน่น ยามเช้าสายหมอกไหลผ่าน อากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี อยู่ใต้สุดประเทศไทย มีด่านเข้าชายแดนมาเลย์เซียได้ สถานที่ท่องเที่ยวมากมาย วงเวียนเบตง ชุมชนปิยะมิตร แหล่งน้ำพุร้อน อาหารอร่อยทุกมื้อ ไก่เบตงห้ามพลาดโดยเด็ดขาด ข้าวเกรียวกรือโป๊ะ ปลากุเลาเค็ม ผ้ามัดย้อมสีมายา ซื้อเป็นของฝากกลับบ้าน

                  หอนาฬิกา กลางเมืองเบตง

         หอนาฬิกา ตั้งอยู่กลางเมืองเบตง ระหว่างถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ อยู่เคียงคู่กับเมืองเบตงมายาวนาน ตัวเรือนนาฬิกาตั้งอยู่บนแท่นหินอ่อน คลุมด้วยหอนาฬิกาหลังคาทรงไทยจตุรทิศ ยามเย็นนกนางจะอาศัยหลับนอน บนเส้นสายไฟโยงผ่านทั้งสี่แยก จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตง เห็นหอนาฬิกาเมื่อไหร่แสดงว่าถึงเมืองเบตงแล้ว

                 ตู้ไปรษณีย์ เบตง

       เป็นตู้ไปรษณีย์เก่า สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2467 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยนายสงวน จินดา นายกเทศมนตรีอำเภอเบตง ผู้ที่เคยเป็นบุรุษไปรษณีย์มาก่อน ตั้งอยู่บนฟุตบาท บริเวณสี่แยกหอนาฬิกาใจกลางเมืองเบตง ลักษณะของตู้เป็นรูปทรงกลม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเส้นรอบวง 1.40 เมตร สูง 3.20 เมตร ทาด้วยสีแดงตัดเส้นด้วยสีดำ นักท่องเที่ยวต้องมาถ่ายรูปคู่กับตู้ไปรษณีย์เก่ากันเกือบทุกคน

                 อุโมงค์ เบตงมงคลฤทธิ์

        ตั้งอยู่บริเวณถนนอมรฤทธิ์ ตัดกับถนนภักดีดำรงค์ เป็นอุโมงค์ให้รถยนต์วิ่งลอดภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาวตลอดอุโมงค์ ประมาณ 273 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร ผิวจราจรคู่ กว้าง 7เมตร ทางเท้าเดินกว้างข้างละ 1 เมตร ความเร็วรถสามารถวิ่งได้ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2544

                    ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ชมได้ตลอดทั้งปี

          ตั้งอยู่บนยอดเขาไมโครเวฟ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา สูงจากระดับน้ำทะเล 2,038 เมตร ห่างจากตัวอำเภอเบตง ประมาณ 40 กิโลเมตร เดินทางสะดวกรถขึ้นถึง มีทะเลหมอกให้ชมตลอดทั้งปี ฟ้ายังไม่ทันสาง นักท่องเที่ยวก็มารอกันเต็มพื้นที่แล้ว เพื่อมาสัมผัสอากาศอันบริสุทธิ์ ชมความสวยงามของทะเลหมอก

        ที่ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง มีจุดชมวิวทะเลหมอกหลายจุด นอกจากจุดสูงสุดแล้วด้านล่าง ยังมีจุดวิวให้ได้ชื่นชมความงามอีกหนึ่งจุดด้วย ฝั่งตรงข้ามจุดชมวิวมีร้านค้าขายอาหาร ของที่ระลึก มาเปิดให้บริการ นักท่องเที่ยวได้ก็นั่งชิมกาแฟ ปาท่องโก๋ ชมทะเลหมอกไปด้วยก็ยังได้

              มื้อเช้าต้องทานที่ เซ้ง ติ่มซำ

       คนเมืองเบตง มื้อเช้าคนทานติ่มซำกัน มีให้เลือกทานหลายร้าน อร่อยทุกร้าน บ้างร้านเปิดให้บริการตั้งแต่ตีสี่ ลูกค้าก็ยืนรอกันแล้ว วันนี้ผมเลือกทานที่ ร้านเซ้ง ติ่มซำ ร้านตั้งอยู่บริเวณหัวมุมหอนาฬิกา หาง่ายมองเห็นหอนาฬิกาก็ต้องเห็นร้าน ร้านเซ้ง ติ่มซำ เป็นตึกแถวสองคูหาทาสีเหลือง ป้ายชื่อร้านทาสีแดง

       ปีนี้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเบตงเพิ่มมากขึ้นทุกปี โต๊ะในร้านเต็มเกือบทุกโต๊ะ เมนูมีให้เลือกหลายอย่าง บักกุ๊ดเต๋ ปาท่องโก๋ ก็มี เครื่องดื่มชากาแฟมีให้เลือกดื่ม เลือกสั่งติ่มซำแล้วไปนั่งที่โต๊ะ นึ่งเสร็จแล้วจะเสิร์ฟให้ทานร้อนๆที่โต๊ะ อร่อยทุกเมนูขอบอก

           Street Art เมืองเบตง 

        หลังจากทานอาหารเช้าแล้วก็มาเดินชม Street Art เมืองเบตง กันครับ เป็นภาพวาดของ นักศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ และอาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างแลนด์มาร์กใหม่ให้ เมืองเบตง ครบรอบ 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง

         เป็นภาพที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวเบตง ที่ผสมผสานอยู่ร่วมกันได้ รวมถึงอาหาร และสัตว์ประจำถิ่น มีทั้งภาพกราฟฟิค และภาพแนวการ์ตูน สะท้อนความสนุกสนาน สีสัน ความสดชื่น ดูแล้วไม่หดหู่ ให้กับผู้คนที่พบเห็น รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่จริงใน อำเภอเบตง เช่นภาพร้านขายกาแฟ ภาพคนขายผัก ภาพทั้งหมดมี 11 จุด ทั้งบนผนัง กำแพง ใต้สะพาน และตัวอาคารหลายจุดรอบตัวเมืองเบตง

               สวนกาแฟโบราณวังเก่า เบตง

     บ้านกาแป๊ะกอตอใน เดิมเป็นวังเก่าปัตตานียังเป็นอาณาจักรอยู่ ปัจจุบันเหลือเพียงคันดินที่เชื่อกันว่าเคยเป็นกำแพงวัง คนในสมัยนั้นปลูกต้นกาแฟเสริมในสวนยาง เอาไว้มาชงดื่มกันภายในครัวเรือน กลุ่มแม่บ้านกาแป๊ะกอตอใน ได้นำวิธีการทำกาแฟแบบโบราณ ที่ทำสืบทอดต่อกันมา พัฒนาเป็นแบรนด์ กาแฟโบราณวังเก่า เบตง ออกขายให้กับคนในชุมชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป ได้ลิ้มลองความกลมกล่อมของกาแฟแบบดั่งเดิม

          เริ่มต้นด้วยการนำเมล็ดกาแฟอาราบิก้า พันธุ์ดั่งเดิมที่ปลูกในพื้นที่เบตง มาคั่วในกระทะใบบัวบนเตาที่สุมไฟด้วยไม้ฟืน คั่วให้เมล็ดกาแฟดำได้ที่แล้วนำไปพึ่งลมให้เย็น จากนำน้ำตาลมะพร้าวมากวนให้ละลาย นำเมล็ดกาแฟที่เย็นแล้วเทใส่ลงไป กวนให้เข้ากัน ตักขึ้นมาใส่กระด้งพึ่งให้แห้ง สุดท้ายเอาตำในครกไม้ให้ละเอียด เป็นเสร็จขั้นตอนในการทำ ได้รสชาติเข้มข้น หอมกรุ่นกลิ่นกาแฟ เป็นเอกลักษณ์ กาแฟโบราณวังเก่า เบตง  

         ที่บ้านกาแป๊ะกอตอใน ยังการทำ บูโล๊ะลือแม หรือข้าวหลามที่ยาวที่สุดในประเทศไทย นิยมทำกันในวันฮารีรายอ หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม ใช้ไผ่เมืองเบตง เนื้อบาง ปล่องยาวประมาณ 1 เมตร นำมาทำข้าวหลาม เผาด้วยไม้ฟืน ได้รสชาติหวานน้อย หอมกลิ่นไผ่ มันหน่อย ติดเค็มนิด ทานคู่กับแกงต่างๆ เข้ากันได้เป็นอย่างดี บูโล๊ะลือแม ไม่ได้ขายทั่วไปต้องสั่งทำที่กลุ่มแม่บ้านกาแป๊ะกอตอใน เท่านั้น 

               เลี้ยงปลาจีน หรือ ปลาเฉาฮื้อ แบบน้ำไหล

      พื้นที่อำเภอเบตง มีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ในแนวเทือกเขาสันกาลาคีรี ด้วยภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง จึงทำให้เบตงมีอากาศดี เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาจีน ด้วยระบบสายน้ำไหล ทำให้ปลาไม่มีกลิ่นโคลน เนื้อแน่น ปลาแข็งแรง เพราะต้องว่ายทวนน้ำตลอดเวลา

       ชุมชนบ้านบ่อน้ำร้อน อำเภอเบตง จึงนิยมเลี้ยงปลาจีน หรือปลาเฉาฮื้อ เป็นอาชีพเสริมจากการทำสวน ปลาจีนมีเกล็ดใหญ่เช่นเดียวกับปลาไน ลำตัวกลมยาวคล้ายกระบอกไม้ไผ่ สีตามลำตัวค่อนข้างเขียว ที่สำคัญคือชอบหากินอยู่ตามผิวน้ำ หรือว่ายน้ำยู่ตามผิวหน้าน้ำ ปลาจีนมีตลาดจำกัด ต้องส่งตรงตามร้านอาหารต่างๆในเมืองเบตง เพื่อนำไปทำเมนู ปลาจีนนึ่งบ๊วย ปลาจีนนึ่งซีอิ้ว หาทานได้เฉพาะที่เมืองเบตงเท่านั้น

                  ผักน้ำ เมืองเบตง

        นอกจากการเลี้ยงปลาในระบบน้ำไหลแล้ว เมืองเบตงยังปลูกผักน้ำ หรือ Water Cress ได้อีกด้วย ผักน้ำเป็นพืชพื้นถิ่นที่ปลูกอยู่ในอำเภอเบตงมาช้านาน ปลูกในน้ำตื้นที่มีน้ำไหล ขึ้นได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี มีใบเล็ก ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ การเจริญคล้ายผักบุ้ง แตกยอดตัดขายได้ทุกหนึ่งเดือน

      ชุมชนบ้านปิยะมิตร ยังคงปลูกผักน้ำ สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วคน เพราะในพื้นที่มีระบบสายน้ำไหล อากาศเย็นสบาย เหมาะสมกับการปลูกผักน้ำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อส่งไปยังร้านอาหารทั่วเมืองเบตง นำไปปรุงเมนู ผักน้ำผัดน้ำมันหอย ที่หานทานได้ที่เฉพาะเมืองเบตงเท่านั้น

                แช่น้ำพุร้อน ยามเย็น

         ที่เมืองเบตงก็มีน้ำพุร้อนเหมือนกัน ตั้งอยู่ที่ ชุมชนบ้านบ่อน้ำร้อน ห่างจากตัวเมืองเบตงประมาณ 7 กิโลเมตร เป็นน้ำพุร้อนที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน ในบึงกว้าง บริเวณกลางบึงมีทางเดินให้ลงไปต้มไข่ได้ มีห้องให้อาบน้ำแร่ บ่อน้ำแร่แช่เท้า   

         คนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว มานั่งพักผ่อนได้ตามชอบใจ ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาแช่เท้า อาบน้ำแร่ หรือจะนำไข่มาต้มนั่งทานกับครอบครัวอย่างมีความสุข น่าจะเป็นช่วงเช้าและช่วงเย็น เพราะอากาศจะเย็นสบายไม่ร้อนเกินไป 

                 มื้อเย็น ต้องทานที่ ภัตตาคารจีน ต้าเหยิน 

       มาเที่ยวเบตง มื้อเย็นก็ต้องทานอาหารเย็นที่ ภัตตาคารจีน ต้าเหยิน เป็นตึกแถว 2 คูหา ตั้งอยู่บนถนนสุขยางค์ ห่างจากหอนาฬิกา ประมาณ 500 เมตร ให้บริการทั้งชั้นล่าง และชั้นบน เปิดทุกวันตั้งแต่ 10.00 – 22.00

      เมนูแนะนำก็มีหลายอย่าง ออเดิร์ฟด้วย คอหมูย่าง กบเบตงทอดกระเทียมพริกไท ผักน้ำพัดน้ำมันหอย เคราหยก ปลาจีนนึ่งซีอิ๊ว ปิดท้ายด้วย เมนูไก่เบตง แล้วต้องสั่งมาทานครับ ไก่เนื้อนุ่ม หนังเด้ง น้ำซอสสูตรเฉพาะ พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะไก่เบตง หาทานได้ที่เมืองเบตงเท่านั้น

             เฉาก๊วยเบตง (วุ้นดำ) กม.4 เจ้าแรก บ้านไม้ดั่งเดิม

       ขากลับออกจากเมืองเบตง เติมความสดชื่น ด้วยการแวะชิม เฉาก๊วย เบตง (วุ้นดำ) กม.4 เจ้าแรก บ้านไม้ดั่งเดิม กันสักหน่อย ที่นี่ทำ เฉาก๊วย แบบดั่งเดิม สืบต่อกันมา 3 ชั่วอายุคน รุ่นปัจจุบันนี้เป็นรุ่นที่ 4

     วิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อนอะไร นำต้นเฉาก๊วยตากแห้งที่นำเขาจากประเทศจีน หรือประเทศอินโดนีเซีย มาต้มในน้ำร้อน ใช้เวลาเคี่ยวประมาณ 3 – 4 ชั่วโมง จากนั้นนำมากรอง ใส่แป้งมันลงไปตามสูตรเฉพาะของเรา แล้วก็เคี่ยวต่อในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ต่ออีก 1 ชั่วโมง ตักใส่ถาดผึ่งให้หายร้อน เป็นอันเสร็จ เตรียมไว้ขายวันพรุ่งนี้ 

       เฉาก๊วยเบตง แตกต่างจากที่อื่น เนื้อจะนุ่มแต่ไม่เหนียว รสชาติจืดสนิมเพราะว่าใช้น้ำจากภูเขา และไม่ได้ผสมน้ำตาล นักท่องเที่ยวมาทานได้ที่ร้านเปิดทุกวัน ถ้าซื้อกลับบ้านต้องสั่งล่วงหน้า เพราะทำวันต่อวันหมดแล้วหมดเลย 

          ดูดน้ำผึ้งชันโรง สดๆจากรัง ที่ศูนย์การเรียนรู้ทุเรียนแปลงใหญ่ อำเภอธารโต

       ชิมเฉาก๊วยเติมความสดชื่นแล้ว ก็มาที่ ศูนย์การเรียนรู้ทุเรียนแปลงใหญ่ อำเภอธารโต เปิดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับปลูกทุเรียนแบบปอดสาร ถ้าหน้าทุเรียนก็จะได้ชิมทุเรียนพันธุ์หมอนทองกันสดๆจากต้นเลยที่เดียว เพราะสวนที่นี่เขาปลูกเฉพาะพันธุ์หมอนทองเท่านั้น นอกจากก็ยังมีสินค้าแปรรูปจากทุเรียนให้ได้ชิมกันอีกด้วย

       ภายในสวนไม่ได้มีแต่ทุเรียนอย่างเดียว ยังมีแปรงสวนดอกไม้ที่อยู่ด้านบน มีสวนสัตว์ขนาดเล็กให้นักท่องเที่ยวชมนกยูง ไก่ฟ้า หากชื่นในความสวยงามก็สามารถซื้อสายพันธุ์ไปเลี้ยงต่อที่บ้านก็ได้ และไฮไลท์ของที่นี่ก็คือการเลี้ยงผึ้งชันโรง ให้นักท่องเที่ยวดูดน้ำผึ้งชันโรงสดๆจากรังอีกด้วย

           ผ้ามัดย้อมสีมายา ชุมชนตำบลหน้าถ้ำ เมืองยะลา

      กลุ่มผ้ามัดย้อมสีมายา เกิดจากการร่วมตัวกัน เพื่อนำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ของฝากของที่ระลึก เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยววัดหน้าถ้ำหรือวัดคูหาภิมุข โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่หาได้ในท้องถิ่น ด้วยการทำผ้ามัดย้อม ด้วยดินมายา ซึ่งเป็นดินภูเขาสีแดง ที่หาได้ทั่วไปในบริเวณชุมชนหน้าถ้ำ ซึ่งดินแดงมีคุณสมบัติติดแน่น ทน นาน

         ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากแบรนด์สีมายา มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่นลายสับปะรด ลายคนถ้ำ ลายดอกศรียะลา ลายมังคุด สินค้ามีให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อมากมาย ผ้าคลุมไหล่  ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าสตางค์  ถ้ำศิลป์  กระเป๋าสับปะรด สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สีมายา สามารถหาซื้อได้ที่ “ตลาดต้องชม แลผาหน้าถ้ำ”ชุมชนหน้าถ้ำ จ.ยะลา ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.00 น.-18.00 น. หรือติดต่อสอบถามข้อมูลและสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ Facebook เพจ: กลุ่มสีมายา หน้าถ้ำ https://www.facebook.com/srimayanatum/ หรือโทร 081-3686300

          เรือนนพรัตน์ ร้านอาหารไทยแท้ กลางเมืองยะลา

       มาปิดท้ายทริปนี้ด้วยมื้อกลางวันที่ เรือนนพรัตน์ ร้านอาหารสไตล์แท้ไทย กลางเมืองยะลา ร้านเป็นตึกแถว ตั้งอยู่ที่หัวมุม ถนนรวมมิตร ตำบลสเตง อำเภอเมืองยะลา ภายในตกแต่งด้วยสไตล์แบบไทยๆ โต๊ะทานอาหารมีให้เลือกนั่งหลายแบบ นั่งพิงหมอนอิง ชุดโต๊ะไม้สัก ชั้นบนมีห้อง VIP และห้องจัดเลี้ยง ก็มีให้บริการ

      เมนูแนะนำก็มีให้เลือกหลากหลาย เริ่มด้วยออเดิร์ฟ ยำหัวปลี หอหมกปู ตามด้วยเมนูหลัก ปลากระบอกทอดกระเทียม น้ำพริกกุ้งสด ไข่เจียวปู แกงคั่วปลากระพง รสชาติถูกปากทุกเมนูครับ ติดต่อสอบถามหรือโต๊ะล่วงหน้าได้ที่ โทร. 073 – 720 088

      สลามมัตชายแดนใต้ สดใหม่ ไร้การปรุงแต่ง @ เบตง – ยะลา ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส โทรศัพท์.  073-542345 โทรสาร. 073-542347 อีเมล: tatnara@tat.or.th เว็บไซต์: http://www.tourismthailand.org/narathiwat