เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมโยง 3 บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ( EP ราชบุรี )
เรื่อง / ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 จัดโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เชื่อมโยง 3 บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพื่อสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใหม่ๆ เน้นให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ใหม่ มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน โดยเชื่อมโยง 3 บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เข้าด้วยกันเป็นเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ด้านการท่องเที่ยว อาจารย์มหาวิทยาลัย มัคคุเทศก์ สื่อมวลชน มาให้คำแนะนำติชม เพื่อนำไปพัฒนาให้เป็น เส้นทางท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีความสมบรูณ์ น่าท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กาญจนบุรี
การเดินทางร่วมกิจกรรม เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมโยง 3 บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ได้เดินทางมาถึง EP สุดท้ายแล้วที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งก็มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายเช่นกัน ในทริปเราจะไปท่องเที่ยว 2 ชุมชนกันครับ ชมสาธิตการทำขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น ที่ชุมชนจีนแคะ ห้วยกระบอก และก็ ชิม ช้อป แซะ กันที่กาดวิถีคูบัว จังหวัดราชบุรี
สักการะเจ้าพ่อสามภูเขา ณ ศาลเจ้าพ่อสามภูเขา
คณะของเราเดินทางมาถึงจังหวัดราชบุรีช่วงสายของวัน แล้วเข้าสักการะเจ้าพ่อสามภูเขา ณ ศาลเจ้าพ่อสามภูเขา ชุมชนห้วยกระบอก ศาลาเจ้าสร้างขึ้นหลังจากคนในชุมชน อพยพมาจากเมืองกาญจนบุรีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็ยังองค์เทพที่นำมาจากเมืองจีนมาที่ห้วยกระบอกด้วย
มีการจัดพิธีสักการะเจ้าพ่อสามภูเขาจัดขึ้นประจำทุกปี คนไทยเชื้อสายจีนแคะจากทั่วประเทศ จากเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย จะเดินทางมาสักการะเป็นประจำทุกปี โดยในงานจะมีกิจกรรม แห่เจ้าพ่อ การแสดงอุปรากรจีน ถนนคนเดินวัฒนธรรมจีนแคะ มีการจำหน่ายอาหารจีนโบราณ ซึ่งมีหนึ่งเดียวในประเทศไทย ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน
ร่วมกิจกรรม Work Shop ทำขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น ขนมของชาวจีนแคะ
ชุมชนจีนแคะโบราณ เป็นชุมชนที่ชาวจีนโพ้นทะเลเชื้อสายจีนแคะ หรือฮากกา จังหวัดเหมยโจ มณฑลกวางตุ้ง เดินทางเข้ามากตั้งรกรากในจังหวัดกาญจนบรีก่อน ต่อมาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกทหารญี่ปุ่นขับไล่ให้ออกจากเมืองกาญจนบุรี จึงได้พากันอพยพมาอยู่ที่ห้วยกระบอก รอยต่อ 3 จังหวัด กาญจนบุรี ราชบุรี และนครปฐม แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรม การอนุรักษ์การทำอาหารท้องถิ่นของชาวจีนแคะไว้เป็นอย่างดี
อย่างที่คณะเรามา ร่วมกิจกรรม Work Shop ทำขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น ขนมของชาวจีนแคะ ในวันนี้ ขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมน้ำ ปั้นให้เข้ากัน แป้งมี 2 สี สีจากมันสำปะหลังเหลืองกับสีจากมันสำปะหลังม่วง ไ้มี 2 อย่าง มีทั้งไส้ถั่วและไส้งา ใส่ไส้เข้าไปกลางปั้นให้เป็นลูกกลมๆ แล้วไปใส่ในพิมพ์ให้เป็นรูปต่าง จากนั้นนำไปนึ่งให้แป้งสุกก็รับประทานได้เลย รสชาติหวานน้อยเคี้ยวหนึบๆ คล้ายกับขนมถั่วแปบ แต่ขนมหว่องฟ้ามู่ปั้นไม่ใส่มะพร้าวขูด ถ้าไส้ถั่วก็หมอถั่ว ไส้งาก็หอมงา
เรียนรู้การใช้พู่กันจีน เขียนคำมงคล
นอกจากกิจกรรม Work Shop ทำขนมหว่องฟ้ามู่ปั้น แล้วยังมีกิจกรรม เรียนรู้การใช้พู่กันจีน เขียนคำมงคลอย่างอย่างหนึ่ง ซึ่งชุมชนห้วยกระบอกยังอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวที่อยากจะทดลองขีดเขียนพู่กันจีนก็สามารถเรียนรู้ได้เลย ทางชุมชนได้เตรียมอุปกรณ์การเขียนไว้ให้อย่างพร้อมเพียง ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ น้ำหมึก และก็พู่กันจีน โดยมีอาจารย์เขียนพู่กันจีน คอยสอนบอกความหมายของคำมงคลของตัวอักษรจีน และดูแลให้อย่างใกล้ชิด
ขอพรพระพุทธสิริสุวรรณภูมิ วัดโขลงสุวรรณคีรี
วัดโขลง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีพระพุทธรูป 3 องค์ แต่ตอนที่หลวงพ่อธรรม ไปสร้างที่พักสงฆ์นั้น มีพระพุทธรูปเหลือเพียงองค์เดียว ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า หลวงพ่อแดง จนกระทั่ง พ.ศ. 2504 กรมศิลปากร ได้ค้นพบโบราณสถานบ้านคูบัว อยู่บริเวณที่พักสงฆ์จึงให้ย้ายออกไป และดำเนินการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานบ้านคูบัวทั้งหมด
รถเลี้ยวเข้ามาในวัดก็มองเห็นพระพุทธสิริสุวรรณภูมิ วัดโขลงสุวรรณคีรี เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม ตั้งเด่นอยู่กลางวัด นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป ก็ต้องขึ้นมากราบของพรก่อนเป็นอันดับแรก ที่ฐานด้านล่างพระพุทธสิริสุวรรณภูมิ ยังมีสถานที่ทำบุญ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัตถุมงคลของวัด ที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชม และสักการะได้ตามสะดวก
เยี่ยมชมจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว
จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ตั้งอยู่ในบริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไท-ยวน ราชบุรี ของชุมชน ริเริ่มจากคนในท้องถิ่น เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมไท-ยวน ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงแค่ภาษาพูด และการทอผ้าจก ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้หญิงไท-ยวน ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2550
แบ่งห้องแสดงไว้หลายห้อง ประกอบด้วยห้องแสดงศิลปวัตถุโบราณสมัยทวราวดี ห้องแสดงวิถีชีวิตของชุมชนไท-ยวน ที่ได้เคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 2347 มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองราชบุรี
เช่นเครื่องมืออุปกรณ์ประกอบอาชีพทำนา การดำรงชีวิต การร่วมคิดอ่านพัฒนาชุมชน การเกิด การกิน ห้องแสดงภูมิปัญญาการทอผ้าจกไท-ยวนเชียงแสน การจำลองชีวิตแบบดั้งเดิมของไท-ยวน จนถึงการพัฒนาวิธีการทอผ้าในปัจจุบัน
ห้องแสดงการแต่งกายของชาติพันติธ์ต่าง ในจังหวัดราชบุรี อาทิ ชาวไทย-ยวน ลาวโซ่ง ลาวเวียง มอญ กระเหรี่ยง จีน ไทยทรงดำ ไทยพื้นถิ่น
ชิม ช้อป แชะ ที่กาดวิถีคูบัว
กาดวิถีชุมชนคูบัว ที่เที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี นักท่องเที่ยวได้ร่วม ชม ชิม แชะ ท่ามกลางบรรยากาศตลาดโบราณ และวิถีชีวิตชุมชนชาวไท-ยวน ตั้งอยู่ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เสน่ห์ของที่นี่ นักท่องเที่ยวจะได้ซึมซับวิถีชีวิตชุมชนชาวไท – ยวน เดินดินกินโตก เป็นตลาดที่มี อาหารของกินของใช้ ของพื้นบ้านมากมาย ขายโดยชาวบ้านในตำบลคูบัว ตลาดจเปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 09.00 – 19.00 น.
ทดลองทำลวดลายขลุ่ย และโมบายดอกเข็ม
ในตลาดยังมีกิจกรรมให้นักท่องมีส่วนร่วมอีกหลายอย่าง ทดลองทำลวดลายขลุ่ย ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวต่อคิวกันหลายคน ตัวขลุ่ยเหลาเจาะรู พิมพ์ลายไว้เรียบร้อยแล้ว
แต่เอามาให้นักท่องเที่ยวเลือกตัวขลุ่ย แล้วนำไปย่างรมควันบนเตาถ่าน เพื่อเป็นการย้อมสีให้ตัวขลุ่ยมีสีเหลืองตามใจชอบ เสร็จก็เอาไปให้ช่างขลุ่ยใส่รูเป่าให้ ทดลองเป่าดูถ้าได้เสียงเป็นที่พอใจแล้วก็นำกลับบ้านได้เลย
ฐานที่ 2 โมบายดอกเข็ม นักท่องเที่ยวนั่งล้อมวงทำตามครูผู้สอนอย่างไม่กระพริบตา มีทั้งทำให้เป็นพวงกุญแจ ทำเสร็จก็จะได้พวงกุญแจกลับบ้านไปด้วย และทำให้เป็นโมบายไว้ประดับหน้าต่างบ้าน ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ ต้องนำไปทำต่อที่บ้านจึงจะเสร็จ ก็เป็นอีก 2 กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาร่วมทำกันเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ฐาน
ร่วมเต้นบาสโลป ณ กาดวิถีคูบัว
ปิดท้ายทริปนี้ด้วยการเต้นบาสโลปร่วมกันที่หน้าเวที ใครเต้นไม่เป็นก็มีนางรำคอยสอนให้ เต้นแค่เพลงเดียวก็เต้นเป็นกันทุกคนแล้วครับ และก็จบไปได้ด้วยดีสำหรับ เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เชื่อมโยง 3 บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ( EP ราชบุรี ) หวังว่าคงจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวได้บ้างครับ