7 สมาคม ตีจาก สทท. เซ็น MOU ชู สสทท. ขับเคลื่อนฉากทัศน์ใหม่ท่องเที่ยวไทย
7 สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว นำโดย สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมโรงแรมไทย (THA) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) และสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ประกาศลาออกจาก สภาท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กลับมาเซ็น MOU ชู สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (สสทท.) ขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยด้วยฉากทัศน์ใหม่ “เพื่อความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนร่วมกัน สอดคล้อง ยกระดับคุณภาพการทำงานขององค์กร นำเสนอสถานการณ์การท่องเที่ยว การพัฒนาการรองรับอนาคต”
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า “การท่องเที่ยวโลกยุคใหม่ คือ การเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างในชีวิต ที่นักท่องเที่ยวคาดหวังในเรื่องความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมทั้ง สามมิติควบคู่กันไป ส่วนในเชิงธุรกิจ หรือ การแข่งขันว่าด้วยเรื่อง ปลาเร็วกินปลาช้า โลกหลังโควิดเปลี่ยนไป พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ความคาดหวังของนักท่องเที่ยวที่ต้องการจากการเดินทางมีความแตกต่างออกไป ต้องการความเป็นส่วนตัวมากไป ความปลอดภัย และ สุขอนามัย มาควบรวมอยู่ในเรื่องเดียวกัน ผู้ประกอบการหลังโควิดประสบปัญหาจากโรคระบาดและต้องการการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างมากและเร่งด่วน ความเข้มแข็งขององค์กรภาคสังคมที่จะต้องรวมตัว และ เข้มแข็ง รวมถึงการทำงานที่เป็นทีมเวิร์ค สื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิด มีความคล่องตัว มีพื้นฐานการทำงานที่สอดคล้องกัน
FETTA หรือ สสทท. เป็นการรวมตัวของ 7 สมาคมหลักที่มีประวัติความเป็นมาและผลงานเชิงประจักษ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และเป็นที่ยอมรับของสังคมการท่องเที่ยวไทยและนานาชาติมาตลอดเวลานับตั้งแต่การก่อตั้งสมาคมฯ เป็นการลดขนาดเครือข่ายให้มีความคล่องตัว มีความเร็วในการทำงาน มีประสิทธิภาพจากทักษะที่มีอยู่จริง และ ที่สำคัญมีพื้นฐานรวมถึงทัศนคติที่ใกล้เคียงและสอดคล้องกัน ทำโครงสร้างเป็นแนวระนาบ ตอบโจทย์สังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตจเพื่อวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืนตามศักยภาพที่เป็นจริงและวางกับดักอนาคตตลาดนักท่องเที่ยวโลกให้กับท่องเที่ยวไทยนำมาซึ่งความมั่งคงและยั่งยืนในทุกภาคส่วนสืบไป
จากสมาคม ATTA THA และTTAA สามสมาคมที่มีภารกิจเชื่อมโยงกับองค์กรกับต่างประเทศและทำตลาดนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดย ATTA THA ดูแลขาเข้า TTAAดูแลขาออก ซึ่งต้องบูรณาการและทำการส่งเสริมภารกิจให้สอดคล้องกัน ส่วนสมาคมมัคคุเทศก์คือองค์กรที่มีความสำคัญในการทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาศักยภาพทูตทางวัฒนธรรมของประเทศไทยเพื่อสร้างความประทับใจในการเดินทางมาประเทศไทยรวมถึงการพัฒนาหัวหน้าทัวร์ที่พาคนไทยไปต่างประเทศให้มีความสะดวกปลอดภัย และ ได้รับการเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ที่ถูกต้อง”
คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า “นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)สมาคม โรงแรมไทยมี 993 แห่ง 160000 ห้องจ้างงาน ประมาณ 50000ตำแหน่ง สัดส่วน 26% ของโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง เฉลี่ยเข้าพัก 65% ราคาเฉลี่ย 2000บาทต่อห้อง มีรายได้ ประมาณ 80000 ล้านบาทต่อปี (เฉพาะสมาชิก THA) ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนกับ อาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ทั้งอุปโภค บริโภคที่สำคัญ
เราเรียกร้องผ่านสมาคมไปยังภาครัฐ เรื่อง ค่าไฟฟ้า แรงงาน และเรื่องภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เพราะมีผลกระทบกับเราอย่างมาก และเรายังได้ยื่นข้อเสนอ ให้ภาครัฐเปิดรับแรงงานนอกเหนือจากประเทศที่เคยมีการตกลง MOU ไว้ รวมถึงพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ และกระตุ้นให้แรงงานเข้าสู่สายงานการโรงแรมมากขึ้น และขณะที่ธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นหนี้และมีภาระเรื่องดอกเบี้ยที่สูงเช่นเดียวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่สมาคมมองว่าการปรับเพิ่มภาษียังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม ยังไม่ฟื้นเต็มที่”
ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวว่า “ความเดือดร้อนของสมาชิก ในปัจจุบันอยู่ในขั้นรุนแรง ไม่สามารถรอเวลาที่จะได้รับความช่วยเหลือได้อีกต่อไปได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สมาคม สปข.ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้บริการ รถโดยสารสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวแบบไม่ประจำทาง ได้รับความเสียหายมากที่สุด ตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมมากว่า 15 ปี โดยปี 2562 ในตลาดมีรถให้บริการทั่วประเทศอยู่กว่า 30,000 คัน ปัจจุบันเหลือรถให้บริการเพียงแค่ 15,000 คัน หายไปครึ่งหนึ่ง ทั้งเลิกกิจการ ถูกธนาคารยึดรถ ประกอบกับสมาคมยังไม่เห็นทิศทางที่ สทท. จะแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งๆที่ทีมบริหารชุดใหม่ถูกเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารได้ 6 เดือนแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างกำลังฟื้น รัฐบาลใหม่ก็กำลังจะเข้ามา แต่สมาชิก สปข.ยังเดือดร้อนหนัก ไม่สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ ไม่มีเงินซ่อมบำรุงรถให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ทำให้ สปข.จึงรอไม่ได้อีกต่อไป ต้องเร่งขยับและนำเสนอประเด็นปัญหาให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแล เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยเดินหน้าต่อได้ในทุก Sector ทั้ง 7 สมาคมมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง การแยกมาขับเคลื่อนเองโดยตรงน่าจะทำให้พวกเราเดินได้เร็วขึ้น”
นายกันตพงษ์ ธนเนืองโรจน์ นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) กล่าวว่า “ทางสมาคมเราเน้นเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อม เน้นไปในเรื่องของความสะดวกปลอดภัยในการเดินทาง แหล่งท่องเที่ยวต้องมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งทางด้านบุคลากร และการบริการนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของห้องน้ำ ห้องน้ำมีเพียงพอไหม ความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว เที่ยวแล้วต้องกระจายรายได้สู่ชุมชน ไม่ทิ้งขยะให้กับสิ่งแวดล้อม และมาจับมือกับอีก 6 สมาคม ในวันนี้ เราไม่ได้ขัดแย้งกับใคร แต่เราต้องการเร่งรัดในการขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยให้เดินหน้าได้เร็วขึ้น เพื่อให้เป็นตามเป้าหมายของภาครัฐ ที่ต้องการขยายอัตราส่วนรายได้ท่องเที่ยวในประเทศจาก 30% เพิ่มเป็น 35% ภายในปี 2570”
ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า “FETTA รวมตัวกันเพื่อความคล่องตัว และ มีประสิทธิภาพกับสมาคมที่มีความใกล้ชิด สื่อสารกันได้ตลอดเวลา มีระบบ แบบแผน มีความน่าเชื่อถือ และ มีผลงานในการทำงานร่วมกันมายาวนาน สามารถตอบโจทย์ การแก้ปัญหาของภาคการท่องเที่ยว และ สมาชิกขององค์กรได้ดี การวางแผนขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างเครือข่ายให้มีความสอดคล้อง และ บูรณาการจุดแข็งของแต่ละองค์กรมาสนับสนุนภารกิจบนเป้าหมายเดียวกัน ให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ ยกระดับคุณภาพการทำงานขององค์กรรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ และ สามารถเตรียมพร้อมรองรับภาวะวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับการท่องเที่ยว นำเสนอสถานการณ์การท่องเที่ยวที่มีส่วนเกี่ยวกับ FETTA อย่างเป็นระบบ และ กระตุ้นให้เกิดนโยบายสนับสนุนการทำงานภาคสังคมของหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งในมิติของการแก้ปัญหา และ การพัฒนาการรองรับอนาคต เป้าหมาย
ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขความเดือดร้อนภาคการท่องเที่ยว และ วางแผนรองรับอนาคตความเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวโลก และ การท่องเที่ยวไทย อย่างเป็นระบบ สร้างเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนได้อย่างเป็นรูปแบบมีความยั่งยืน มีความยืดหยุ่น และ เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน นำมาสู่เป้าหมายของความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ และ สิ่งแวดล้อม
ประโยชน์ที่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับ ภาคการท่องเที่ยวไทยขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิ การท่องเที่ยวไทยเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการ และ แรงงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และ ยั่งยืนตลอดไป FETTA เป็นหนึ่งกลไกเสาหลักของการท่องเที่ยวไทยที่ดูแลตลาด Inbound Outbound Domestic & Supply Chain ที่มีประสิทธิภาพ และ เป็นที่ยอมรับทางสังคมตลอดไป
ภารกิจเบื้องต้นนั้นเรานำเสนอมาตรการในการฟื้นฟูตลาดระยะเร่งด่วนในช่วง กรกฎาคม ถึง กันยายน ที่เป็นโลว์ซีซั่น โดย แอตต้า แก้ไขเรื่องวีซ่า นักท่องเที่ยวจีน และ เพิ่มเที่ยวบินเข้าสู่ประเทศไทยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคในระยะเร่งด่วน, สมาคมโรงแรมไทย มาตรการแก้ไขแรงงานขาดแคลน และ ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลาง และเล็ก สมาคมท่องเที่ยวในประเทศมาตรการต่อยอดโครงเราเที่ยวด้วยกัน สปข ผลักดันจัดตั้งกองทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการฟื้นฟูสภาพรถให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย เร่งผลักดันหน่วยงานจัดสรรงบประมาณกระตุ้นการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว แก้ไข ระเบียบสำนักงบประมาณเรื่องคุณสมบัติผู้เข้าประมูลงาน ตั้งกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนมาตรฐานการท่องเที่ยวภาพใหญ่
มาตรการระยะกลาง และ ระยะยาว จัดตั้งกองทุนเพื่อการท่องเที่ยวแบบถาวร, มาตรการส่งเสริมพัฒนาบุคลากร,มาตรการยกเว้นวีซ่ายุโรป และ อเมริกาสำหรับพาสปอร์ตไทย , มาตรการยกเว้นภาษีโรงแรมสำหรับการปรับปรุงอาคารโรงแรมที่ถูกต้อง จากข้อมูลที่สื่อสารมาทั้งโดยสรุปนั้น คือ เป้าหมายของการทำงานเชิงบูรณาการของเครือข่ายสมาคมที่ทำงานเกี่ยวเนื่อง และ ใกล้ชิด มีความสอดคล้องและสอดประสานสนับสนุนเป้าหมายแนวทางการทำงานที่ลงตัวร่วมกันจึงเป็นฉันทามติในการก่อตั้งองค์กรในครั้งนี้ สุดท้ายการคาดหวังที่จะเป็นการเลือกแนวทางของ FETTA คือ การเป็น Games Changer Team ที่จะรองรับสถานการณ์การท่องเที่ยวโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งความยั่งยืนแก่ทุกภาคส่วนของการท่องเที่ยวไทย”
7 สมาคม ตีจาก สทท. เซ็น MOU ชู สสทท. ขับเคลื่อนฉากทัศน์ใหม่ท่องเที่ยวไทย แถลงเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ