3 วัฒนธรรม มหัศจรรย์ธรรมชาติ เที่ยวเมืองรอง @ สตูล
เรื่อง/ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา
ดินแดนเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เขาว่ากันว่าอยู่ที่จังหวัดสตูล เนื่องจากมีการค้นพบซากฟอสซิลของช้างสเตโกดอน มีอายุเก่าแก่หลายร้อยล้านปี ตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สตูลอยู่ในเขตการปกครองของมณฑลไทรบุรี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตกลงเรื่องปักปันดินแดนกันใหม่ เมืองสตูลยังอยู่ในการปกครองของไทย ส่วนเมืองไทรบุรีเป็นของประเทศมาเลเซีย
3 ศาสนา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
“สตูล” เป็นภาษามลายู “เซอตุล” แปลว่ากระท้อน ต้นกระท้อนป่ายังคงมีหลงเหลือให้เห็นอยู่ตามบ้านในตัวเมืองสตูล ผูกมิตรไมตรียิ้มแย้ม มีความเป็นกันเอง ยินดีต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งเป็นเสนห์ของคนเมืองนี้ คนพื้นเมืองอยู่อาศัยมาก่อน ต่อมาชาวจีนโพ้นทะเลก็อพยพเข้ามา มีเขตแดนติดกับประเทศมาเลเซีย ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน อาศัยอยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง ดูจากถนนสายวัฒนธรรม วัดชนาธิปเฉลิม มัสยิดกลางมำบัง ศาลเจ้าโป้เจ้เก้ง ตั้งอยู่บนถนนสายเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยอมรับความแตกต่าง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนจึงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล
อาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น รูปแบบผสมผสาน 3 วัฒนธรรม หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย ด้านหน้าซ้อนด้วยหน้าจั่วแบบไทย ผสมผสานรูปแบบชิโน-โปรตุกรีส ด้วยซุ้มโค้งทางเข้าหน้าอาคาร และซุ้มโค้งเหนือหน้าต่างบานไม้ยาวเกือบถึงพื้น เน้นความเป็นอิสลามด้วยการทาสีขาวให้กับตัวอาคาร หมายถึงความบริสุทธิ์ ตัดด้วยหน้าต่างทาสีเขียวหมายถึงธรรมชาติ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2441 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2459
เดิมที พระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง (กูเด็นบินกูแม๊ะ) เจ้าเมืองสตูล สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จปักษ์ใต้ แต่พระองค์ไม่ได้เสด็จมาประทับแรม ต่อมาจึงใช้เป็นศาลากลางจังหวัดสตูล ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงใหม่จากกรมศิลปากรให้เป็น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสตูล ภายในจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองสตูล วิถีชีวิตชาวสตูล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ การปั้นหม้อ ห้องบ้านเจ้าเมืองสตูล ห้องวัฒนธรรมชาวไทยมุสลิม รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น
ตามหาหินย้อยรูปหัวใจใน “ถ้ำเล สเตโกดอน”
ถ้ำที่มีน้ำไหลผ่านคนพื้นถิ่นจะเรียกว่า “ถ้ำเล” ภายในถ้ำเป็นแห่งค้นพบ ซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิลกระดูกขากรรไกรพร้อมฟันกราม ของช้างในตระกูล “สเตโกดอน” จึงเรียกว่า “ถ้ำเลสเตโกดอน” ด้านบนถ้ำเป็นเทือกเขาหินปูน ภายในถ้ำมีอุโมงค์น้ำไหลผ่าน ยาวประมาณ 3.5 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับคลองออกสู่ทะเลได้ จึงมีปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ อยู่ในเขตอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) ที่ได้กับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตามธรรมชาติ จาก UNESCO เป็นแหล่งแรกของประเทศไทย
มาเที่ยว “ถ้ำเล สเตโกดอน” ติดต่อจองทัวร์ได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้า เพื่อความสะดวก ปลอดภัย แก่นักท่องเที่ยว เพราะการที่จะลงเรือเข้าถ้ำได้ขึ้นอยู่กับช่วงน้ำขึ้นน้ำลงด้วย ก่อนที่จะนั่งเรือไป ตามหาหัวใจใน “ถ้ำเล สเตโกดอน” นักท่องเที่ยวจะต้องมาที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ จะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ “ถ้ำเล สเตโกดอน” กันเสียก่อน ใกล้กันยังมีพิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีสตูล ให้ได้ชมซากฟอสซิลของช้างสเตโกดอน และทานอาหารกลางวันอร่อยๆ จากชุมชนทุ่งหว้า
เสร็จแล้วจึงนั่งรถของชุมชนไปยัง “ถ้ำเล สเตโกดอน” ก่อนลงเรือทุกคนต้องสวมหมวก และเสื้อชูชีพ ให้เรียบร้อยเสียก่อนสต๊าฟถึงจะอนุญาตให้ลงเรือได้ เรือแคนนูลงได้ลำละ 2 คน พร้อมกับสต๊าฟพายเรือให้อีก 1 คน พายจ้วงนำ้ขึ้นมาเรือก็ค่อยๆลอยลำเข้าไปในถ้ำ เสมือนพายเข้าไปในตัวช้าง แสงสว่างจะค่อยๆน้อยลง ผ่านปากช้างเข้าไป แสงธรรมชาติก็หมดไปในทันที หรือแต่เพียงแสงไฟบนหมวกของคนบนเรือแคนนูเท่านั้น
ผ่านคอหอยช้างเข้ามา ก็จะพบกับหินย้อยนางฟ้า ไฮไลท์แรกของถ้ำแห่งนี้ แต่ต้องใช้จินตนาการกันหน่อยนะครับ มองขึ้นไปก็จะเห็นหินย้อยสีดำคล้ายรูปใบหน้าของผู้หญิง คลุมด้วยหินย้อยสีส้มมองคล้ายเส้นผม โดยรวมแล้วก็คล้ายใบหน้านางฟ้าในจินตนาการอยู่เหมือนกัน จุดนี้สามารถจอดเรือลงมาถ่ายรูป กับหินย้อยนางฟ้าได้ครับ
แล้วก็มาถึงส่วนของท้องช้างเป็นทางสามแพ่ง อยู่ช่วงกลางของถ้ำที่มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 3.5 กิโลเมตร ทางขาวเป็นทางที่ค้นพบฟอสซิลช้างสเตโกดอน ยังไม่เปิดให้เข้าไป ส่วนทางซ้ายเป็นทางออก จะได้พบกับหินย้อยหัวใจช้าง ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่ 2 ของถ้ำเลฯ หินย้อยสีส้มรูปคล้ายหัวใจ ช่วงหน้าฝนจะมีสายน้ำไหลลงมาด้วย นี่คือหินย้อยนั้นยังมีชีวิตอยู่ สามารถเจริญเติบโตได้ต่อไป
ใช้เวลาในการตามหัวใจอยู่ใน “ถ้ำเล สเตโกดอน” ประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็มาถึงทางออก ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่ 3 ปากทางออกก็เป็นรูปหัวใจเหมือนกัน สรุปว่ามาตามหาหัวใจที่ถ้ำนี้ได้หัวใจมาถึง 2 รูป บริเวณปากถ้ำก็ยังมีซากฟอสซิลของหอยดึกดำบรรพ์ ในตระกูลนอติลอยด์ ให้เห็นกับตาได้หลายตัวอยู่เหมือนกัน ออกจากถ้ำมาแล้วก็ลงเรือชมความอุดมสมบรูณ์ของป่าโกงกางกันต่อ เพื่อไปขึ้นรถกลับที่ท่าเรือ
หินงาช้างรอรับตะวันอยู่ทุกค่ำ ณ สะพานข้ามกาลเวลา
สะพานข้ามกาลเวลาอยู่ที่เขาโต๊ะหงาย ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ มีเส้นหินพันล้านปีเป็นกันชนรอยต่อของ 2 ยุค หินทรายสีแดงในยุคแคมเบรียน มีอายุอยู่ในช่วง 542 – 488 ล้านปี มีอายุเก่าแก่กว่าจะอยู่ด้านล่าง ส่วนหินปูนสีเทาในยุคออร์โดวิเชียน มีอายุอยู่ในช่วง 488 – 444 ล้านปี อายุน้อยกว่า จะอยู่ด้านบน แสดงให้เห็นการข้ามเวลาด้วยตาเราเอง จากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้ Time Machine เป็นตัวช่วย
ออกจากถ้ำเลฯมาก็มาชมพระอาทิตย์ตก ณ สะพานข้ามกาลเวลา กันต่อ เดินเลาะไปบนทางเดินริมผา ซึ่งสมมุติให้เป็นสะพานที่จะพานักท่องเที่ยวไปข้ามกาลเวลา ที่หน้าผาหิน 2 ยุค แห่งกาลเวลา หินที่เก่าแก่กว่าจะมีโทนสีแดง ส้ม ม่วง สวยงาม ผสมปนกันไป ด้านบนจะเป็นหินสีชมพู่สลับเทา หลายสี แปลกตา เป็นยุคใกล้กับปัจจุบันมากกว่า นักท่องเที่ยวจะต้องมาถ่ายรูปเช็คกันเป็นที่สนุกสนาน และที่พลาดไม่ได้นั้นก็คือ การได้มาชม หินงาช้างรอพระอาทิตย์ตกอยู่ทุกค่ำ จุดที่ชมพระอาทิตย์ที่สวยงามแห่งหนึ่งครับ
ยังไม่หมดครับเดินต่อมายังมีชายหาดหินหลากสีให้ได้ชมกันอีก เนื้อหินค่อนข้างหยาบ ดูจากลักษณะพื้นผิวแล้วน่าเป็นหินทราย ต่างจากหินสีที่เกาะหินงาม ที่มีเนื้อละเอียดพื้นผิวเป็นมันวาว รูปร่างและขนาดแต่ละก้อนก็มีขนาดที่แตกต่างกันไป สีแดง สีเทา สีดำ สีเหลือง และสีน้ำเงิน กระจัดกระจายอยู่เต็มชายหาด สะท้อนกับแสงอาทิตย์ที่กำลังลับเหลี่ยมเขาไป ดูสวยตื่นตาไปอีกแบบครับ
ปราสาทหินพันยอด สิ่งมหัสจรรย์ของโลก
ส้วมเสื้อชูชีพ ทุกคนพร้อมลงเรือหัวโทง ที่ท่าเรือบ้านบ่อเจ็ดลูก แต่ละลำต้องนำเอาเรือแคนนูพวงไปด้วย นักท่องเที่ยวที่ชอบแบบตื่นเต้นสักหน่อย ก็สามารถนั่งไปบนเรือแคนนูได้เลย เรือท่องเที่ยวเกือบทุกลำ ต้องแวะที่ “สันหลังมังกรเขาใหญ่” กันก่อน สันหลังมังกรที่นี่ตัวไม่ยาวเท่าไหร่ ช่วงเช้าน้ำกำลังขึ้นพอดี แต่ก็ยังทันเห็นสันทรายเป็นแนว สันหลังมังกรให้ได้เห็น เดินอยู่บนสันหลังมังกรได้พักเดียว น้ำทะเลก็ขึ้นมาทีละน้อย ถึงเวลาที่เราต้องไปแล้วเหมือนกัน
ปรากกฏการณ์ทางธรรมชาติ สร้างสิ่งมหัสจรรย์ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ปราสาทหินพันยอดก็คือ 1 ในสิ่งมหัสจรรย์ของโลกเหมือนกัน เมื่อหลายล้านปีก่อนน้ำใต้ดินได้กัดเซาะหินปูนทีละน้อยจนเป็นโพรงขนาดใหญ่ แล้วก็เกิดการยกตัวของแผ่นดินขึ้น ทำให้โพรงหินนั้นยกตัวขึ้นมา กลายเป็นปราสาทหินพันยอด
เมื่อวานพายเรือเข้าถ้ำเลฯไปแล้ว เช้าวันนี้ก็มาพายเรือแคนนูเข้า ปราสาทหินพันยอดบ้าง เรือหัวโทงมาจอดอยู่หน้าปราทสาทฯ ก็ต้องลงเรือแคนนูพายผ่านช่องหินด้านหน้าที่เป็นทางเขามีอยู่ 2 ช่อง เข้าไปในตัวปราสาทฯ ช่างเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก เรือค่อยๆลอยลำผ่านช่องเขาเข้าไป เปรียบได้กับกว่าจะมาถึงที่นี่ได้ เมื่อลำบากแล้วจะได้พบกับสิ่งสวยงาม แล้วก็ไม่ผิดหวังกับความมหัสจรรย์ ของธรรมชาติสร้างมา สวยงามจริงๆครับ
น้ำทะเลเขียวใสกระทบหาดทรายเม็ดละเอียดด้วยแรงคลื่น ล้อมรอบเป็นวงกลม ด้วยเขาหินปูนสีเทายอดแหลมนับพันยอด ด้านบนเปิดโลงเห็นฟ้าครามเต็มรอบวงเขา เรือแคนนูเกยขึ้นมาบนหาดทราย พักผ่อนนอนเล่น ว่ายน้ำให้สบายใจ หรือจะเดินเล่นหาซากฟอสซิลหอยนอติลอยด์ก็ได้ พักให้หายเหนื่อยก่อน เติมพลังจากความมหัสจรรย์ของธรรมชาติให้เต็มก่อนแล้วค่อยไปต่อ
ปราสาทหินพันยอดจะอยู่ทางหัวเกาะ ด้านทิศเหนือของเกาะเขาใหญ่ ต้องนั่งเรือต่อมาช่วงกลางเกาะมาพักทานมื้อกลางวัน กันที่อ่าวตะโล๊ะกาละ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเกาะเขาใหญ่เหมือนกัน อาหารก็แบบพื้นบ้าน น้ำพริกกะปิเคียงผักสด สะตอพัดกุ้ง ปลาหมึกดำ ปูม้าตัวย่อมต้ม ทานแบบตักเองตามใจชอบ ด้วยความสดอย่างเดียวก็อร่อยมากแล้วครับ
เขียนลาย ลงเทียน ย้อมสี ที่ปั้นหยาบาติก
ผ้าบาติกหรือผ้าปาเตะ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย ใช้น้ำเทียนเขียนลายลงบนผืนผ้า แล้วนำผ้าไปย้อมให้เทียนกันสีย้อมไว้ ได้ลวดลายที่มีอัตลักษณ์แบบพื้นเมือง เริ่มเข้ามาแพร่หลายทางภาคใต้เมื่อไหร่ไม่ปรากฎหลักฐาน ต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้น ขยายตัวไปทางภาคกลาง และภาคเหนือของไทย โดยเขียนลวยลายแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ
ปั้นหยาบาติก นำเสนอเรื่องราวของอุทยานธรณีสตูล ผ่านผ้าบาติก ให้นักท่องเที่ยวมาวาดลวดลายลงบนผืนผ้า เชื่อมโยงเรื่องราวทางธรณีวิทยา เมื่อประมาณหลายร้อยล้านปีก่อน เอาปลาหมึกนอติลอยด์ และไทรโลไบท์ มาเขียนเป็นลวดลาย นำวัสดุธรรมชาติจากอุทยานธรณี พวกแร่ธาตุ ใบไม้ เปลือกไม้ ผลไม้ ที่เกิดในพื้นที่อุทยาน มาทำเป็นวัสดุย้อมสี เช่น สีแดงได้จากดิน สีเหลืองจากโคลน สีน้ำตาลจากเปลือกไม้โกงกาง และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ ให้นักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรม เขียนลาย ย้อมผ้า เลือกซื้อสินค้าจากผ้าบาติก เป็นกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนอย่างแท้จริง
สันหลังมังกร ตันหยงโป สันทรายเปลือยหอยยาวที่สุดในประเทศไทย
ไปดู “สันหลังมังกรเขาใหญ่” มาแล้วตัวหนึ่งยังไม่จุใจเพราะเป็นสันมังกรตัวเล็ก ต้องมาดู “สันหลังมังกร ตันหยงโป” สันทรายเปลือยหอยยาวที่สุดในประเทศไทย ถึงจะได้ใจ จากตัวเมืองสตูลประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เส้นทางเมืองสตูล – ตันหยงโป แล้วไปที่ท่าเทียบเรือบ้านกลาง เดินผ่านสะพานสายรุ้งไปลงเรือหัวโทง
ตามธรรมชาติแล้วจะต้องมีเกาะสองเกาะหรือสามเกาะอยู่ใกล้กัน เชื่อมต่อกันด้วยสันทรายที่ซ้อนตัวอยู่ใต้ทะเล ช่วงน้ำลงเท่านั้นถึงจะปรากฏตัวให้เห็น ที่กระบี่เรียกว่า “ทะเลแหวก” สตูลเรียก “สันหลังมังกร ตันหยงโป” ไม่เหมือนที่อื่นที่นี่จะเป็นเปลือกหอยหลายร้อยล้านตัว แตกสลายรวมตัวทับถมกัน เตรียมจะกลายเป็นสันทราย ยาวกว่า 3 กิโลเมตร อยู่ที่นี่
เรือหัวโทงจอดเทียบหาดมังกร เดินเท้าเปล่าเหยียบลงไปบนซากเปลือกหอย เจ็บจีดๆให้ความรู้สึกตื่นเต้นตลอดเวลา มองทอดสายตาไปตามสันทรายเปลือกหอย เปรียบเสมือน “สันหลังมังกร” โผล่พ้นน้ำมาคล้ายกำลังเคลื่อนตัวผิวไหวอยู่บนผืนน้ำ สวยงามตามท้องน้ำอย่างยิ่ง เหมาะสมกับความมหัสจรรย์ที่สุดในประเทศไทยอย่างแท้จริง
เกาะเขากว้าง จุดชมวิวเขตแดนไทย – มาเลเซีย
คนประมงพื้นบ้านที่นี่เรียกเกาะเขากว้าง ก็เพราะว่าช่วงหน้าแล้งต้นไม้บนเกาะจะทิ้งใบจนหมด เหลือแต่ต้นกับกิ่งก้าน มองมาจากเรือไกลๆตอนออกหากุ้ง หอย ปู คล้ายเขากว้าง เกาะเขากว้างก็มีสันทรายเหมือนกันแต่ไม่ยาวเท่าไหร่ บนเกาะมีพื้นผิวค่อนข้างขรุขระ เนื่องจากแร่เหล็กฝังตัวอยู่เป็นหย่อมๆ มองเห็นเป็นแร่เหล็กได้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับพื้นทรายที่อยู่ข้างเคียง
โรตีกับโกปี้เย็น ช่วยแก้หิวคลายเหนื่อยได้อยู่เหมือนกัน ทานเบรคกันแล้วก็ได้เวลา เดินขึ้นยอดเขาเพื่อไปยังจุดชมวิว เขตแดนไทย – มาเลเซีย จะมองเห็นว่าฝั่งซ้ายเป็นเกาะลังกาวี ส่วนฝั่งขวาเป็นเกาะตะรุเตา ฝั่งประเทศไทย ขึ้นมาถึงยอดเขาแล้วก็ต้องถ่ายรูปกันก่อน วิวตรงจุดเช็คอินนั้นก็สวยงามตื่นเต้นไม่เบานะ
หมู่บ้านประมง “ปุเลาอูบี” วิถีประมงพื้นบ้าน
แวะเยี่ยม หมู่บ้านประมง “ปุเลาอูบี” ก่อนกลับ เป็นเกาะที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของ “สันหลังมังกร ตันหยงโป” กระท่อมเพิงพักปลูกขึ้นมาอย่างเรียบง่าย หลังคามุงสังกะสีก็มี มุงจากก็ได้ ฝาไม้ไผ่ขัดแตะ วิถีชีวิตก็ไม่ร้อนรนเรียบง่ายตามไปด้วย เช้ามืดออกหาปูหาปลา พอสายเข้าฝั่งพาปูปลาไปขาย เป็นเช่นนี้อยู่ทุกมื้อเชื่อวัน น่าจะเป็นการดำเนินชีวิต ที่มีความสุขที่สุดกลุ่มสุดท้ายของสตูล ยังคงอนุรักษ์วิถีประมงพื้นบ้านไว้ได้อย่างดี และอาศัยอยู่บนเกาะ “ปุเลาอูบี” แห่งนี้
กระดงใส่ปูที่ยกขึ้นมาน้ำจากข้างเรือ บางตัวยังดีดดิ้นไปมาให้เห็นความสดจริง เรือจอดเทียบหาด “ปุเลาอูบี” มาทันเห็นปูเป็นๆที่เรือประมงพื้นบ้าน หามาได้เมื่อตอนเช้ามืด เตรียมตัวขึ้นฝั่งส่งขายตามร้านอาหารที่สั่งจองไว้ การได้มาเห็นกับตาถึงวิถีประมงพื้นบ้าน เป็นเครื่องการันตรีมาสตูลได้ทานอาหารทะเลสดๆแน่นอน
อิ่มอาหารทะเลสดๆ ที่ ตันหยงบุรี
ไปดูถึงแหล่งผลิตมาแล้วเมื่อเช้า มื้อเที่ยงได้มา อิ่มอาหารทะเลสดๆ ที่ ตันหยงบุรี เป็นรีสอร์ทขนาดเล็ก ตั้งอยู่ติดกับท่าเทียบเรือบ้านกลาง นักท่องเที่ยวสามารถพัก จองทัวร์ไปดูหลัง “มังกร ตันหยงโป” ก็ได้ และมีบริการอาหารมื้อกลางวันด้วย
เด็ดใหม่สดทุกเมนู ออฟเดิร์ฟด้วยหอยแครงลวกสุกำลังดี กั้งกระเทียมพริกไทย หมึกดำต้มเค็ม ตามมาด้วยเมนคอร์ส ปูม้านึ่ง ปลากระพงย่างขมิ้น เด็ดด้วยน้ำจิ้มรสแสบ แกงส้มปลากระบอก กุ้งลายเสืออบ ข้าวพัดปู ปิดท้ายด้วยลอดช่องกระทิสด อิ่มจนพุงกางยอมรับเลยว่าอาหารทะเลที่นี่สดจริง
บุหงารัมปัย อาหารพื้นถิ่นเมืองสตูล
บุหงารัมปัย ร้านเรือนไม้ไทยประยุกต์ผสมผสานวัฒนธรรมมุสลิม ท่ามกลางแมกไม้ล้อมรอบ มุมทานอาหารโต๊ะเก้าอี้ทำจากไม้ทั้งหมด ตั้งอยู่ใจกลางเทศบาลเมืองสตูล ริมถนนสฤษดิ์ภูมินารถ ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล ให้บรรยากาศเสมือนมาเยี่ยมญาติ มาทานอาหารปักษ์ใต้ขนาดแท้ดั่งเดิมแบบคนสตูล ร้านเปิดทุกวันเวลา 10.00 – 22.00 น. (ยกเว้นวันพฤหัสบดี)
ชาต้มบุหงารัมปัย ใช้ชามาต้มผสมกับดอกไม้ที่ปลูกในสวนหลังร้าน ดื่มแล้วได้รสชาจางๆหอมดอกไม้เข้ามาแทนที่ หอมชื่นใจ กาแฟมะพร้าวใช้เมล็ดกาแฟสดพันธ์ุพื้นเมืองควนโดนมาคั่วเอง ให้รสเข้มข้นหอมทั้งกลิ่นกาแฟมาพร้อมกับกลิ่นมะพร้าว ดื่มแล้วสดชื่นอย่างประหลาดใจ ส่วนเมนูอาหารแนะนำก็มี ข้าวแกงมัสมั่นเนื้อ ข้าวแกงตอเม๊ะห์ปลา ข้าวแกงเขียวหวานไก่ อร่อยทุกจานครับ
ห้ามพาด “โรตี ชาชัก บังฟาน” โดยเด็ดขาด
หลังมื้อเย็นถ้ายังไม่รีบเข้านอน ต้องห้ามพาด “โรตี ชาชัก บังฟาน” โดยเด็ดขาด ร้านตั้งอยู่ใกล้หอนาฬิกาใจกลางเมือง ไปไม่ถูกถามทางคนแถวนั้นบอกทางไปร้านได้ทุกคน เปิดให้บริการทุกวันไม่มีวันหยุด ไม่ได้ขายเฉพาะโรตีกับชาชัก มีอาหารอีกหลายเมนูขายด้วย
แต่ที่มาแล้วต้องสั่งเครื่องดื่มก็มี ชาชักเย็น รสชาติดีมีกลิ่นชาผสมนมไม่หวานมาก กาแฟนมเย็น น้ำอันชันมะนาว ส่วนโรตีก็ต้องสั่งโรตีมะตะบะ แป้งเหนียวกรอบนอกนุ่มใน โรตีภูเขาไฟ แป้งกรอบบางโรยด้วยทับผงโอวันตินทับนมข้นไปอีกที รสชาติหวานมันหอมกลิ่นโอวันติน โรตีกระดาษ ก็บางได้ใจโรยด้วยนมข้น หวานกรอบอร่อย สมคำบอกเล่า “มาสตูลห้าม โรตี ชาชัก บังฟาน”
ความสวยงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้ ทั้งพื้นดิน ผืนน้ำ ในถ้ำ บนเขา ถ้ำเลสเตโกดอน ปราสาทพันยอด สันหลังมังกรเปลือกหอย หนึ่งเดียวในโลก คนท้องถิ่นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไทยพุทธ มุสลิม จีน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แม้กระทั่งหมู่บ้านประมงพื้นบ้าน กลุ่มสุดท้ายบนเกาะปุเลาอูบี ก็ยังไปสัมผัสได้ ได้ทานอาหารพื้นเมือง อาหารทะเลสดจริง โรตีชาชักแสนอร่อย ต้องมาเยือนให้ได้สักครั้ง ห้ามพลาดด้วยประการปวง 3 วัฒนธรรม มหัศจรรย์ธรรมชาติ เที่ยวเมืองรอง @ สตูล