THEWAYNEWS > Activity > CU MEET THE PRESS จุฬาฯ พบสื่อมวลชน ชูบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

            CU MEET THE PRESS จุฬาฯ พบสื่อมวลชน ชูบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

       อธิการบดีจุฬาฯ ย้ำบทบาทของมหาวิทยาลัยในการบุกเบิกองค์ความรู้ สร้างงานวิชาการและวิจัยเพื่อขับเคลื่อนประเทศและสังคมไทย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับ 17 เป้าหมาย SDGs ขององค์การสหประชาชาติ 

          

         จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “จุฬาฯ พบสื่อมวลชน” (CU Meet the Press) เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของจุฬาฯ กับสื่อมวลชนทุกแขนง  รวมทั้งนำเสนอโครงการต่างๆ ของจุฬาฯ ที่ได้ดำเนินการมา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (UN)ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ 

           เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ศ.ดร.บัณฑิต  เอื้ออาภรณ์  อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าปัจจุบันเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญในระดับสากลที่สหประชาชาติและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นตรงกันว่าจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมายที่ UN ได้กำหนดไว้ภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งครอบคลุมการแก้ปัญหาของโลกเราในยุคปัจจุบัน จุฬาฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอดผ่านภารกิจ 4 ด้านหลักของมหาวิทยาลัย ได้แก่

         1.การเรียนการสอนและการเรียนรู้ (Teaching and Learning) 

         2.การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (Research and Innovation) 

         3.การกำหนดนโยบายและการดำเนินการในระดับมหาวิทยาลัย (Policy and Operation) 

         4.การสร้างความเชื่อมโยงและผูกพันกับสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก (Outreach and     Engagement) 

        หลากหลายโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตจุฬาฯ และนิสิตเก่า เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจทั้ง 4 ด้านดังกล่าว ซึ่งตอบสนองเป้าหมาย SDGs ในข้อต่างๆ ด้วย

         “จุฬาฯ ได้รวบรวมข้อมูลโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินการซึ่งสอดคล้องกับ SDGs ทั้ง 17 ข้อและภารกิจของมหาวิทยาลัย เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.sustainability.chula.ac.th  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการช่วยสร้างความตระหนักให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในการสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ หรืออาจจะมาร่วมมือกับจุฬาฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยแก้ไขปัญหาในประเทศ ตลอดจนปัญหาที่มีร่วมกันในสังคมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป” 

        ส่วนหนึ่งของโครงการต่างๆ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการและสอดคล้องกับ SDGs ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ดังกล่าว เช่น 

  – Chula MOOC  (SDGs 4, 8, 9) คอร์สเรียนออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “การเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด” สามารถเรียนได้ทุกวัยและอาชีพ เรียนฟรี สอนโดยคณาจารย์จุฬาฯ

 – โครงการ “จุฬาฯ-ชนบท”  (SDGs 1, 4, 10, 11, 16) โครงการที่เพิ่มโอกาสความเท่าเทียมกันทางการศึกษา เปิดรับนักเรียนที่เรียนดี และประพฤติดีแต่ยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีโอกาสเข้าศึกษาในจุฬาฯ โดยได้รับทุนการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ   

 – โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค (SDGs 3, 4, 11, 12) ผลงานของอาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อศึกษาปัญหาโภชนาการที่เกิดกับพระสงฆ์ พัฒนาสื่อที่ช่วยแก้ไขปัญหาโภชนาการของพระสงฆ์ ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์อย่างยั่งยืน 

– โครงการจุฬาฯ สามัคคี (SDGs 3, 4, 10, 11, 13, 15, 16, 17) รวมพลังชาวจุฬาฯ และนิสิตเก่า  ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์รูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและช่วยเหลือสังคม 

– Smart Farming ฟาร์มฉลาดเพื่อเกษตรกรโคนมไทย (SDGs 1,3,4,9,10) เป็นงานวิจัยเชิงบูรณาการโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับผู้เลี้ยงโคนม ในการจัดการฟาร์มโคนมเพื่อแก้ปัญหาการเลี้ยงโคนมในสภาพอากาศร้อนชื้น 

 – แคร์สักนิด ชีวิตเปื้อนฝุ่น  (SDGs 3, 7, 9, 11, 13)  จุฬาฯ สร้างการเรียนรู้อยู่กับฝุ่น PM2.5 อย่างปลอดภัย ด้วยการเพิ่มเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ตามจุดต่างๆ ในจุฬาฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เผยแพร่ข้อมูลปริมาณฝุ่น PM2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศทาง http://www.bems.chula.ac.th/web/pm2.5/#/       รวมทั้งให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ

 – โครงการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้ประจำถิ่นในประเทศ      (SDGs 1, 2, 8, 11, 12, 13, 15, 16, 17) ผลงานวิจัยของอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้กล้าไม้แข็งแรงและเพิ่มโอกาสในการรอดตายหลังการย้ายปลูกแล้ว ราไมคอร์ไรซายังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านเห็ดกินได้ ทำให้ชุมชนกว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 – ราษฎร์จุฬาร่วมใจขจัดภัยพิษสุนัขบ้า เพื่อชุมชนต้นแบบแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างยั่งยืน (SDGs 3, 4,11) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จัดโครงการดังกล่าวที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี  ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปี 2561 – 2563) เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบที่เข้าใจและร่วมกันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ให้บริการฉีดวัคซีนแก่สุนัขและแมวในชุมชน และลดอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสุนัขและแมว รวมทั้งยังมีกิจกรรมเสริมความรู้อื่นๆ ด้วย

 

        ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงมุ่งมั่นพันธกิจในการบูรณาการความรู้จากงานวิจัย วิชาการ เผยแพร่สู่สังคมไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น  

 – โครงการ “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”  เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นและชุมชนด้วยนวัตกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)  (อพท.) ดำเนินโครงการโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ร่วมกับนักวิจัยจาก 11 คณะและสถาบัน

 – จุฬาฯ นำความรู้พัฒนาแก้ไขปัญหา จ.น่าน โดยร่วมมือกับจังหวัดน่าน นำองค์ความรู้ไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถพัฒนาจังหวัดน่านได้ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัด

 – โครงการพื้นที่ทดสอบมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้านพลังงานของจุฬาฯ :  ระบบซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ การไฟฟ้านครหลวง และบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนวิถีชีวิตเมืองมหานครอัจฉริยะ เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

 – โครงการ “Upskilling / Reskilling Industrial Workforce for Thailand 4.0 : Data Science Pathway Western Digital and CHULA MOOC Achieve” คอร์สเรียนออนไลน์สำหรับหน่วยงานและองค์กร เน้นพัฒนาทักษะผู้เรียนด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Science/Data Analytics) เพื่อให้สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก