สลามัตชายแดนใต้ @ ปัตตานี
เรื่อง / ภาพ สุเทพ ช่วยปัญญา
ปัตตานีอดีตเป็นที่ตั้งของเมืองท่าลังกาสุกะ อยู่ทางฝั่งทะเลจีนใต้ มีความเจริญรุ่งเรืองจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ามาแต่ก่อน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อยู่ร่วมกันแบบสามวัฒนธรรม จีน พุทธ มุสลิม มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เมืองเก่าปัตตานี วัดช้างไห้ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกลางปัตตานี มัสยิดกรือเซะ
ย่านเมืองเก่าปัตตานี เรื่องราวบ้านเมืองปัตตานี
ความเจริญของเมืองปัตตานีมีมาอย่างต่อเนื่อง จากยุคลังกาสุกะรุ่งเรืองแล้วก็ล่มสลายไป ร่องรอยการเป็นเมืองการค้าในอดีต ก็ยังหาดูได้จากสถาปัตยกรรม ตึกเก่าๆแบบชิโนโปรตุกีส ในย่านเมืองเก่าปัตตานีชุมชนกือดาจีนอ ปัจจุบันได้มีการพลิกฟื้นย่านเมืองเก่าแห่งนี้ให้มีชีวิตกลับมีอีกครั้ง
ด้วยการอนุรักษ์ปรับปรุงตึกเก่าในชุมชน ให้เป็นร้านกาแฟ พิพิธภัณฑ์ชุมชน ร้านขายอาหารเครื่องดื่ม เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดปัตตานี ให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ ศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีได้อย่างเห็นภาพเมืองเก่าอย่างแท้จริง
วัดช้างไห้ ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล
วัดช้างไห้ ตั้งอยู่ที่ อำเภอโคกโพธ์ จังหวัดปัตตานี เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปี มีหลวงปู่ทวด เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และอัฐิของท่านก็ฝังไว้ที่วัดช้างด้วย ชาวปัตตานีและคนทั่วประเทศให้ความเคารพนับถืออย่างมาก มากราบบูชากันอย่างไม่ขาดสาย ภายในวัดประกอบไปด้วย ด้านหน้าวัดเป็นที่ตั้งของมณฑปบรรจุอัฐิของหลวงพ่อทวด ประกบด้วยรูปปั้นช้างสองข้างซ้ายขวา
เดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาด้านซ้ายเป็นที่ตั้งของวิหารหลวงพ่อทวด ตัวอาคารศิลปไทยประยุค 2 หลัง ซ้อนกัน หลังคา 5 มุข ภายในประดิษฐานรูปปั้นหลวงปู่ทวด ให้นักท่องเที่ยวได้มากราบบูชา
ต่อจากวิหารหลวงพ่อทวดยังมี พระอุโบสถหลังใหญ่ศิลปรัตนโกสินทร์ ตัวพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องลดหลั่นกันถึง 6 ชั้น
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เรื่องราวความศรัทธา
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานเดชานุชิต ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี ก่อตั้งขึ้นโดยชาวจีนในเมืองปัตตานีเมื่อปี พ.ศ. 2117 เดิมมีชื่อว่าศาลเจ้าซูก๋ง ต่อมาพระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูล่าย) ได้อัญเชิญ เจ้าแม่ลิ้มก่อเหนี่ยว จากบ้านกรือเซะมาประดิษฐานในศาล และตั้งชื่อศาลใหม่ว่า “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง”
ศาลเจ้าเล่งจูเกียงมีชั้นเดียว แบ่งเป็นโถงกลางมีปีกซ้าย และปีกขวา ลานด้านหน้าอาคารมีแท่นบูชาเทวดา โถงกลางมีแท่นบูชาสามแท่น แท่นกลางคือโจ๊วซูกงเป็นเทพประธาน และเจ้าแม่ทับทิม แท่นซ้ายคือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และน้องเจ้าแม่ แท่นขวาคือตั่วเหล่าเอี้ยหรือเจ้าพ่อเสือ
ส่วนโถงด้านขวามีเทพซาเจียงกุน และเจ้าแม่กวนอิม โถงซ้ายมีกวนอู และเทพกุนเต้กุน นักท่องเที่ยวที่มาเมืองปัตตานี ต้องมาขอพรกันเกือบทุกคน
มัสยิดกลางปัตตานี สัญญาลักษณ์เมืองปัตตานี
มัสยิดกลางปัตตานี ตั้งอยู่ที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497 และใช้เวลาก่อสร้างนาน 9 ปี ออกแบบโดย นายประสิทธิผล ม่วงเขียว สถาปนิกกรมศาสนา รูปทรงภายนอกของมัสยิดมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล ประเทศอินเดีย
มียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น และโดมขนาดเล็กล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านข้างมีหออะซาน 2 หอ และด้านหน้ามีสระน้ำขนาดใหญ่ยาวเท่าตัวอาคาร สะท้อนแสงเงาของมัสยิดอย่างงดงาม ภายในเป็นห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับทำละมาด ใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นที่ละมาดของพี่น้องชาวมุสลิม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนทั่วโลกอีกด้วย
มัสยิดกรือเซะ ควรค่าอนุรักษ์
มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดปิตูกรือบัน ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานี มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สถาปัตยกรรมแบบมัสยิดในตะวันออกกลาง ตัวอาคารทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อถือปูนทั้งหลัง หลังคาสันณิฐานว่าเป็นทรงโดม ด้านหน้ามีซุ้มโค้งรูปโดม 3 ซุ้ม ขนาบด้วยช่องหน้าต่างรูปโค้งซ้ายขวา
ภายในก่ออิฐห่างซุ้มโค้งประมาณ 1 เมตร ทำเป็นทางเดินรอบมัสยิด และกันทำเป็นห้องละหมาด พร้อมช่องประตูหน้าต่างเพื่อเดินเข้าไปทำพิธีละหมาดได้ มัสยิดกรือเซะ เป็นมัสยิดที่ยังสร้างไม่เสร็จมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังสามารถใช้ทำพิธีทางศาสนาได้
นั่งเรือชมป่าโกงกาง @ ชุมชนท่องเที่ยวบางปู
การท่องเที่ยวโดยชุมชนท่องเที่ยวบางปู ที่มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยู่ที่ “บ้านบาลาดูวอ” ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ก่อนถึงที่จะลงเรือก็ต้องมาเช็คอินถ่ายรูปกับประติมากรรมปูดำกันก่อน การล่องเรือชมป่าชายเลนยะหริ่งนี้ นักท่องเที่ยวจะได้ชื่นชมกับป่าโกงกางที่อุดมสมบรูณ์ไปตลอดสองข้างทาง ชมนกหลากหลายชนิด ชมไม้นานาพันธุ์
และไฮไลท์ก็คือการลอดอุโมงค์ป่าโกงกาง ยาวไปตลอดเส้นทาง ระหว่างยังมีกิจกรรมงมหอยให้นักท่องเที่ยวได้ทำกันอีกด้วย จากนั้นล่องเรือสู่ปากอ่าวปัตตานี สัมผัสวิถีชาวประมงพื้นบ้านอันหลากหลาย การวางข่ายดักกุ้งหอยปูปลา
ตบท้ายด้วยการทานอาหารกลางวันแบบพื้นบ้านบางปูแท้ๆ เมนูก็มีหลากหลาย เริ่มต้นด้วยเต้าหู้นมสดมะพร้าวอ่อน หวานน้อยเย็นชื่นใจ ออเดิร์ฟเป็นยำสาหร่ายผมนาง และที่พลาดไม่ได้ก็คือปูดำหรือปูทะเลนึ่ง นั้นเอง ปูสดเนื้อแน่นหวานอร่อย ตัวเมียไข่เต็มท้อง ถ้านอนโฮมสเตย์ก็มีให้บริการ ช่วงเย็นก็จะได้ล่องเรือชมหิ่งห้อยกันด้วย ที่นี่มีหิ่งห้อยให้นักท่องเที่ยวได้ชมแสงสีอยู่มาก ไม่แพ้ที่อื่นเหมือนกัน
ร้านบ้านเดอนารา วัฒนธรรมการกินอยู่ของคนปัตตานี
ปิดท้ายของทริปนี้ด้วยการมาทานมื้อค่ำที่ ร้านบ้านเดอนารา ตั้งอยู่ที่ 17/239 ซอย 21 ถ.เจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี เป็นร้านอาหารมุสลิม ในบรรยากาศร่มรื่น รายล้อมด้วยแมกไม้อันเขียวขจี บนเนื้อที่กว่า 4 ไร่ เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 8 ปี เพื่อต้องการนำเสนอวัฒนธรรมการกิน และการเป็นอยู่ของคนปัตตานี เสมือนทานอาหารอยู่ที่บ้าน
เมนูอาหารโบราณรสเลิศที่หาทานได้ไม่ง่ายนัก พร้อมกับการบริการที่เป็นกันเอง อาหารอร่อยทุกเมนู บูดูทรงเครื่อง แกงเหลืองปลาอินทรีย์ ปลากระพงลุยสวย ให้บริการ : ตั้งแต่ 10.30 – 20.00 น. จองโต๊ะได้ที่เบอร์โทร : 073 337 031
ปัตตานีก็ยังคงมีมนต์เสนห์ให้นักท่องเที่ยวมาค้นหาได้ทุกฤดูกาล สถานที่ท่องเที่ยวบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง หลากหลายทั้งประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติ อาหารการกิน ใครที่ยังไม่เคยมาสัมผัสเมืองปัตตานี อยากให้มาลองดูสักครั้งหนึ่ง รับรองต้องประทับใจในการต้อนรับของคนปัตตานี จนต้องกลับมาเยือนอีกครั้งแน่นอน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส โทรศัพท์. 0 7352 2411 โทรสาร. 0 7352 2412 อีเมล: tatnara@tat.or.th เว็บไซต์: http://www.tourismthailand.org/narathiwat